ข่วงพระเจ้าล้านนา

DSCF9391

ก่อนจะมุ่งหน้าเข้าไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถ้าใครช่างสังเกตหน่อยบริเวณปากทางเข้าฝั่งขวามือ บนถนนคันคลองชลประทาน จะพบเห็นว่ามี “ข่วงพระเจ้าล้านนา” วางตัวอยู่ริมถนน

เอ่ยถึง “ข่วงพระเจ้าล้านนา” อาจจะมีบางคนทราบมาบ้าง หรือไม่ทราบบ้างว่าคืออะไร ตรงนี้เลยอยากจะขอบอกให้เข้าใจกันนะครับ ว่าสถานที่แห่งนี้เป็น ลานประกอบพิธีการทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญของชาวล้านนา และพุทธศาสนิกชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ซึ่งการก่อสร้าง “ข่วงพระเจ้าล้านนา” แห่งนี้ ริเริ่มสร้างโดย อาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ ศิษย์เอกหลวงปู่เฒ่าเกวาลัน แห่งเทือกเขาหิมาลัย เป็นประธานในการดำเนินการก่อสร้าง พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่มีจิตศรัทธา

DSCF9411

ทั้งนี้วัตถุประสงค์ในการก่อสร้าง หลักๆ ก็จะมี 3 อย่างด้วยกันคือ 1.เพื่อมอบถวายเป็นสมบัติของแผ่นดิน 2.เพื่อเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า และ 3.เพื่อเป็นอานิสงส์ผลบุญผ่อนคลายกรรมแก่บ้านเมืองและแผ่นดินให้รอดพ้นจากสถานการณ์ความเดือดร้อน ความขัดแย้งต่างๆ และให้เกิดความสงบสุขในแผ่นดิน

DSCF9416

“ข่วงพระเจ้าล้านนา” ถูกออกแบบโดยใส่แนวคิดของสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ เป็นนิทรรศการกลางแจ้งที่มีชีวิต เล่าเรื่องราวพุทธประวัติผ่านสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ อีกทั้งยังมีเรื่องของการยึดถือคติความเชื่อตามจารีตประเพณีโบราณล้านนาแฝงรวมอยู่ด้วย

บนเนื้อที่ 30 ไร่ “ข่วงพระเจ้าล้านนา” มีองค์ประกอบหลักใหญ่ๆ ดังนี้

1.ข่วงประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ลานพิธีที่ใช้ในการประกอบศาสนกิจต่างๆ ทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชน อาทิ การเวียนเทียน การทำบุญเมือง การฟังธรรมเทศนา ในวันสำคัญต่างๆ เป็นต้น

DSCF9387

2.องค์พระเจ้าล้านนา พระพุทธรูปหล่อทองเหลืองปางพิชิตมาร ขนาดหน้าตัก 99 นิ้ว ประดิษฐานบนแท่นบูชาสูง 5 เมตร อยู่ภายในซุ้มโขงรูปแบบล้านนา หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหลังมีต้นศรีมหาโพธิ์ขนาดใหญ่ ส่วนลานบูชาบริเวณด้านหน้าองค์พระเจ้าล้านนาจะรอบล้อมด้วยกำแพงแก้ว มีพระพุทธรูปประจำวันเกิดขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว พร้อมซุ้มโขงและจารึกชื่อผู้สร้างไว้ที่ฐานพระพุทธรูป จำนวน 409 องค์ นอกจากนี้ยังมีเทวดา 2 องค์ ตั้งอยู่ด้านหน้าขององค์พระประธานอันเปรียบเสมือนเทพผู้ข่วยดูแลปกป้องรักษาองค์พระเจ้าล้านนาด้วย

DSCF9388

3.พุทธมหาเจดีย์ข่วงพระเจ้าล้านนาและรอยพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง มีขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 10 เมตร สูง 23.9 เมตร รูปแบบเจดีย์ทรงล้านนา ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนปิดทอง มีซุ้มปูนปั้นจัตุรมุขสี่ด้าน ประดิษฐานพระประจำวันเกิด จำนวน 20 องค์ ยอดเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระพุทธาจารย์ (สมเด็จเกี่ยว) แห่งวัดสระเกศ ส่วนที่สำคัญอีกส่วนคือ ภายในพระมหาเจดีย์ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง ที่จำลองมาจากวัดพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

DSCF9384

4.ศาลาบาตร รูปแบบล้านนาประยุกต์ ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนปิดทอง ประดับด้วยกระจกสี ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิดจำนวน 9 องค์ หน้าตักเท่าคนจริง พร้อมซุ้มโขงและแท่นแก้วตกแต่งรูปแบบล้านนา

DSCF9391

5.ศาลาธรรมและสระอโนดาต เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ ภายในประดิษฐานองค์พระเจ้าทันใจ ขนาด 59 นิ้ว พร้อมซุ้มโขงและแท่นแก้ว ซึ่งทำพิธีเททองหล่อสำเร็จภายใน 7 วันเท่านั้น ด้านนอกมีสระน้ำขนาดใหญ่เรียกว่าสระอโนดาต ตกแต่งทางเข้าด้วยพญานาคคู่นำทางไปสู่ศาลาธรรม ส่วนบริเวณสระอโนดาตประดิษฐานพรพุทธรูปปางรำพึง สูง 169 ซม. ลอยอยู่เหนือน้ำตกขนาดใหญ่ที่ส่งเสริมให้ทิวทัศน์แลดูสวยงาม

DSCF9392

6.สังเวชนียสถาน สถานที่รำลึกและให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติพระพุทธเจ้า ในการแสดงสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน โดยจากบริเวณด้านหน้าลานซุ้มโขง จะมีจุดนำสายตาด้วยเสา 8 ต้น ตามความหมายของพระธรรมคือ มรรคมีองค์ 8

DSCF9403

DSCF9394

7.ข่วงผญาปัญญาปูจาพระเจ้าล้านนา สถานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิต ภูมิปัญญาล้านนาโบราณที่กำลังจะสูญหายไป สถาปัตยกรรมนี้เป็นกลุ่มเรือนไม้รูปทรงล้านนา ประกอบด้วย เฮือนหลวง หอนาย เฮิอนผญาปัญญา ห้องนิทรรศการ หลองข้าว และข่วงผญาปัญญาสำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไปได้เข้ามาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาล้านนา

1 ชั่วโมง โดยประมาณ กับการมาเที่ยวชม “ข่วงพระเจ้าล้านนา” ถือว่าที่นี่เป็นแหล่งศึกษานิทรรศการกลางแจ้งล้านนา และพุทธศาสนาที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง