ถ้านับเอาวันกันจริงๆ ก็ต้องบอกว่าลอยกระทงมันตรงกับวันที่ 17 พฤศจิกายน 2556 นะครับ แต่ถ้ายึดเอาตามปฏิทินงานยี่เป็งเชียงใหม่ กำหนดการจะออกมาเป็น 8 -18 พฤศจิกายน 2556 และมาคึกคักเอาจริงๆ เป็น 3 วันสุดท้าย
1 สัปดาห์แรก เป็นเรื่องหัตถกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นวัวลาย พิธีแถลงข่าวงานยี่เป็ง นิทรรศการโคมไฟ ตามจุดต่างๆในคูเมือง ประเพณีตั้งธรรมหลวง เทศน์มหาชาติ ส่วน 3 วันสุดท้าย กิจกรรมมากหลาย ทั้งขบวนแห่โคมยี่เป็ง การประกวดเทพี เทพบุตร ยี่เป็งเชียงใหม่ แข่งเรือพาย แสดงพลุเฉลิมพระเกียรติ ขบวนแห่กระทงยักษ์ และอีกสารพัดงานประกวด รวมทั้งมหรสพรื่นเริง เอาไว้บำเรอชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต่างถิ่น
ผมโฟกัสเอาวันลอยกระทงจริงๆ คือค่ำคืนวันที่ 17 พฤศจิกายน โดยช่วงบ่ายๆ แว่บไปดูแข่งเรือที่ริมแม่น้ำปิง แถวเจดีย์ขาว ซึ่งก็มีหลากหลายประเภทฝีพายให้ได้แข่งขัน ส่วนตอนไปดูทันเป็น 2 รอบสุดท้ายชิงความเป็นหนึ่งระหว่างชุมชนหนองป่าครั่ง กับ ม.ราชภัฏเชียงใหม่ ผลออกมาแรงคนหนุ่มนักศึกษาฟิตกว่าผู้ใหญ่ ม.ราชภัฏเชียงใหม่ เลยฟาดรางวัลไปครอง
โฉบจากแข่งเรือพาย เลยแวะมาดูตรงหน้าสำนักงานเทศบาลบ้าง ส่วนนี้มีการจัดประกวดกระทงหลายระดับ ทั้งมัธยม และประชาชนทั่วไป คนส่วนใหญ่ที่มาร่วมงานก็พอประมาณครับ ไม่ได้เยอะแยะอะไรมาก
ให้หลังหนีจากริมแม่น้ำปิง จวบจนมืดค่ำมา ผมพาตัวเองมาเตร็ดเตร่ยังสถานที่จัดงานยี่เป็งอันสำคัญครับ โดยทิ้งรถมอเตอร์ไซค์ไว้ตรงถนนช้างม่อย ก่อนจะเดินเล่นมายังถนนท่าแพ ที่มีการประกวดเทพี เทพบุตรยี่เป็ง โดยบริเวณดังกล่าวจากประตูท่าแพไปยังสะพานนวรัฐคนต้องบอกว่าแน่นขนัดยังกับมดเตรียมอพยพหนีน้ำยังไงยังงั้น (นี่ขนาดไม่ใช่วันแห่ขบวนกระทงยักษ์นะ ถ้าเป็นวันแห่มันจะนรกแตกขนาดไหน)
เป้าหมายตัวเอง คือเดินไปดื่มด่ำบรรยากาศที่พุทธสถานตรงเชิงสะพานนวรัฐ พร้อมมีเครื่องดื่มสีอำพันติดมือไป 1 ขวด ก่อนจะแวะเดินเข้าไปหาของกินในพุทธสถาน ที่ถูกจัดฉากจำลองประหนึ่งถนนคนเดินที่มีแต่ของกิน รวมทั้งชิงช้าสวรรค์และมหกรรมการปาลูกโป่ง
มีกับแกล้มได้พอละเลงลงคอสลับกับเบียร์ขวดเล็ก จากนั้นก็ได้เวลามาดูชาวบ้านปล่อยโคม แล้วตัวเองรอเก็บภาพถ่ายสวยๆ พร้อมดื่มด่ำความงดงามบนท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยโคมไฟหลายร้อยหลายพันดวงค่อยๆ ลอยละลิ่วหายไปจนลับตา
อ่า อะไรมันจะเยี่ยมขนาดนี้ เบียร์ก็มีให้กระดกพอเป็นกษัย แถมมาคนเดียวอย่างสบายใจอีก
เบียร์หมดขวด ก็หนีไปหาลอยกระทงตรงริมแม่น้ำปิงด้านล่าง ผมเลือกกระทงใบตองแทนอย่างอื่น ถามว่าที่เลือกเพราะอะไร ก็เพราะเกิดมาก็ลอยแต่แบบนี้ แบบโฟม ขนมปัง อะไรนั้น ไม่เคยหรอก แถมยังไม่สวย ส่วนลอยแล้วน้ำจะเน่ามั้ย คนเก็บจะเก็บลำบากขนาดไหน อันนี้สารภาพตรงๆ เลย ช่างหัวคุณยายมัน
ก่อนหนีกลับจากฝูงชนนับพัน (เพราะชักรำคาญแล้ว คนเยอะวุ่นวายเกิน) มีล่องประทีปเรือไฟโฉบมาให้ชมความงามอีกดอก และจากนั้นก็ไม่มีอะไรให้ได้สนใจต่อไปอีกแล้ว พูดง่ายๆ ก็คือ จบ
เวทีประกวดอะไรนั้นตรงพุทธสถาน หรือประตูท่าแพ อย่าหวังว่าผมจะไปยืนดูให้เมื่อยตุ้ม เพราะตูแค่ผ่านมาดูเขาปล่อยโคมก ลอยกระทงแล้วกลับ ส่วนวันต่อมาที่มีขบวนแห่กระทงถามว่าผมจะมาดูไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่เช่นกัน
เหตุผลง่ายๆ ครับ คนเยอะวุ่นวาย แถมตูก็ลอยกระทงไปแล้ว การจะฝ่าฝูงชนไปดูขบวนแห่จึงไม่ใช่เรื่องจำเป็น ที่สำคัญ ปีที่แล้วก็ไปดูมาแล้ว ดีที่สุดในขบวนก็เป็นนางรำหน้าตาจิ้มลิ้มทั้งหลาย และอีกหลายนางที่ถูกอัญเชิญให้ไปนั่งทำหน้าสวยบนรถแห่
สุดท้ายตัดสินใจถูกต้อง เพราะวันต่อมาขบวนแห่กระทงยักษ์ โดนฝนห่าใหญ่กระหน่ำลงจนเละเทะ แทบไม่เหลือชิ้นดี นี่ถ้าคนจัดงานประกวดเขาดูเรื่องพยากรณ์อากาศซักนิด บางทีมันก็คงไม่เป็นแบบนี้
“อยู่ใต้ฟ้าจะกลัวอะไรกับฝน” คำนี้คนไหนก็พูดได้ แต่ถ้าอยากเปลี่ยนได้ จัดงานในวันที่มันไม่ตกจะดีมั้ย ในเมื่อมันก็ทำกันได้นะ
แอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนราคาสองหมื่นกว่า ลองลงไว้ในเครื่องแล้วเปิดดูซิจ๊ะ ท่านทั้งหลาย
ปล.ปีนี้ดีหน่อยที่ไอ้พวกจุดประทัดกวนชาวบ้านไม่ค่อ่ยเยอะ ต่างจากปีที่แล้วตรงขัวเหล็กที่สภาพไม่ต่างจากสงครามโลก