ถ้าวัดหมื่นสาร วัดศรีสุพรรณ มีช่างทำเครื่องเงินอันขึ้นชื่อ ที่วัดพวกแต้มก็คงไม่น้อยหน้าเหมือนๆกัน กับช่างฝีมือทางด้านการทำฉัตร
ผลงานสร้างชื่อทั้งจากพระธาตุดอยสุเทพ พระวิหารหลวงวัดพระสิงห์ พระเจดีย์องค์เล็กทั้งสองแห่งวัดเจดีย์หลวง พระธาตุวัดเชียงมั่น และอีกหลายๆ วัดในภาคเหนือ คือหลักฐานชิ้นสำคัญบ่งบอกถึงความยอดเยี่ยมฝีมือทางด้านนี้
แต่ก่อนที่จะมีผลงานดังกล่าว ทุกอย่างเริ่มจากวัดพวกแต้ม สถานที่บ่มเพาะฝีมือช่างตั้งแต่ในสมัยก่อน ซึ่งจากประวัติวัดพวกแต้ม ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ปรากฏจากหลักฐานที่ค้นพบ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2026 โดยชื่อวัดทำให้สันนิษฐานถึงผู้สร้างได้อีก ซึ่งคำว่า “พวก” หมายถึง หัวหน้าหมู่บ้าน เป็นขุนนางยศต่ำ ดังนั้น พวกแต้มคงเป็นขุนนางที่มีหน้าที่ควบคุมทางด้านช่าง โดยเฉพาะด้านการเขียนภาพจิตรกรรม การลงรักปิดทอง ดังเช่นวิหารหลังหนึ่งในวัดพระธาตุลำปางหลวง เรียกวิหารน้ำแต้ม
จากนั้นในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” พระเจ้ากาวิละได้กวาดต้อนผู้คนจากหลายที่มารวมกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีสล่าเครื่องโลหะมาด้วย จึงทำให้นักวิชาการทางด้านวัฒนธรรมสันนิษฐานว่า “คัวตอง” ต้นกำเนิดแห่งช่างฝีมือด้านโลหะ น่าจะก่อกำเนิดขึ้นในช่วงนี้ ในวัดพวกแต้ม
ข้อสันนิษฐานเพิ่มบ่งบอกว่า สล่าที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยนั้น ได้ทำการหล่อพระพุทธรูปสำริดขึ้นเป็นจำนวนมาก ย่านถนนช่างหล่อ ใกล้ๆ กับวัดพวกแต้ม โดยมีการพบว่าฉัตรรุ่นแรกที่มีการทำขึ้นในวัดพวกแต้มนั้น ก็ทำขึ้นจากสำริดเช่นกัน จึงเป็นไปได้ว่าการหล่อแผ่นสำริด น่าจะมาจากย่านช่างหล่อ ก่อนจะส่งต่อมาให้สล่าในวัดพวกแต้มตอกขึ้นรูปเป็นฉัตรอีกทีนึง
ที่เหลือจากนั้น ท่านพระครูรัตนปัญญา อดีตเจ้าอาวาสวัดพวกแต้ม ในฐานะที่มีความสามารถทางศิลปะหลายด้าน ก็ได้ทำการรวบรวมสล่าฝีมือดีมาไว้ในวัดพวกแต้ม ก่อนจะร่วมมือกับครูบาศรีวิชัยในการสร้างฉัตร ซ่อมแซมฉัตรตกแต่งลวดลายตามวัดวาอารามต่างๆ จนถึงขั้นก่อตั้งสมาคมสล่าขึ้นในนาม “คัวตอง”
จากการสืบสานงานทำฉัตรและศิลปะอื่นๆ มาโดยตลอดของทางวัด ปัจจุบันวัดพวกแต้ม เป็นชุมชนช่างทำฉัตรพวกแต้ม อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งมีผลงานฉัตรปรากฏทั่วไปหลายที่ (อย่างที่เกริ่นไปแต่แรก)
ฉัตรของวัดพวกแต้ม จะมี 2 แบบด้วยกัน คือแบบแรก เป็นแบบพื้นเมืองของล้านนา มีเอกลักษณ์อยู่ที่ลวดลายที่หยาบและใหญ่ประดับอยู่ระหว่างชั้น มีชื่อลายหลากหลาย โดยส่วนประกอบหลักๆ ของฉัตรพื้นเมือง ได้แก่ กระจัง ดอกคอ และกาบ
ส่วนแบบที่สอง เป็นแบบประยุกต์ เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนาและพม่าเงี้ยว โดยกระจังจะยื่นออกมาเหมือนมือที่ฟ้อนหงายนิ้วงอโค้งออกมา เรียกว่า “ลายฟ้อน” ส่วนปลายดูอ่อนช้อย ส่วนกาบจะยกสันขึ้น ทำให้ดูมีเหลี่ยมเงาได้สัดส่วน
นอกจากการทำฉัตร ก็ยังมีงานหัตถศิลป์ ที่ถูกรวมไว้ในคัวตองของวัดพวกแต้มอีกด้วย ซึ่งผลงานทั้งหมดนั้น ก็ยังอนุรักษ์ไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะล้านนา ที่ได้รับการสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ถือได้ว่าผลงานดังกล่าว เป็นสมบัติทางด้านวัฒนธรรมอันล้ำค่าของล้านนาที่ควรช่วยกันสนับสนุน และสืบสานต่อไปตราบชั่วลูกชั่วหลาน