หนึ่งในเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ที่ใครๆ ต่างพากันจดจำได้ดี ไม่แพ้หมีแพนด้า อ้วนซ่า กินจุ คือ “โคม”
“โคม” ในที่นี้ไม่ใช่ “โคม ปะการัง” ที่ทำคลิปล้อเลียน “โดม ปกรณ์ ลัม” แต่เป็น “โคมล้านนา” ที่เป็นของคู่กันประเพณีเดือนยี่เป็ง หรือ วันลอยกระทง รวมทั้งประเพณีต่างๆ ของทางภาคเหนือ
ปัจจุบันโคมส่วนใหญ่ที่เราเห็นกันตามสถานที่ต่างๆ ล้วนมาจากชุมชนเมืองสาตรทั้งสิ้น นั่นก็พอจะสันนิษฐานว่าชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตโคมของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีชื่อเสียงกันพอสมควร
“แม่ครูบัวไหล คณะปัญญา” แห่งบ้านเมืองสาตร หรือที่ชาวบ้านทั่วไปพากันยกย่องในฐานะ “แม่ครูโคมล้านนา” เป็นผู้ริเริ่มงานหัตถกรรมการทำโคมล้านนา โดยประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุ พื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นไม้ไผ่ กระดาษสา หรือผ้าดิบ
“แม่ทำโคมมาตั้งแต่เป็นเด็กอายุแค่ 11-12 ปี ยังเรียนหนังสืออยู่เลย หัดทำโคมมาเรื่อย แรก ๆ ก็คิดค้นมาไม่กี่แบบหรอกลูก มีโคมธรรมจักร หรือโคมแปดเหลี่ยม โคมรูปเพชร โคมรูปดาว โคมปักเป้า โคมผัด โคมหูกระต่าย โคมด้วง โคมฟัก และแม่ก็คิดค้นประดิษฐ์โคมรูปทรงใหม่ๆ ขึ้นมาเยอะ สร้างสรรค์ให้มีความแปลกใหม่ อย่างเช่น โคมญี่ปุ่น โคมร่ม โคมเอวหรือโคมต่อ (โคมหลายใบต่อกัน) ซึ่งชื่อเรียกโคมนี่ก็ตั้งขึ้นมาเองตามรูปทรงของมัน”
“เมื่อก่อนตอนแม่ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านเมืองสาตรใหม่ๆ ยังไม่มีใครเขาทำโคมกันหรอก ส่วนใหญ่ก็ทำสวน ทำนา บางคนก็ค้าขาย ที่นี่พึ่งมาเริ่มทำโคมกันเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วมานี่เอง ชาวบ้านละแวกนี้ก็มาหัดมาเรียนทำโคมกันที่บ้านนี้”
นั่นเป็นคำให้การจากปากแม่ครูบัวไหล
กล่าวกันว่า “แม่ครู” ไม่เคยหวงวิชาความรู้ และมักจะถ่ายทอดให้กับผู้ที่สนใจอยู่เสมอ ซึ่งที่ผ่านมาท่านมักจะถูกรับเชิญไปเป็นวิทยากรให้ความรู้ในหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงชุมชน/หมู่บ้านต่างๆ ที่ขอความอนุเคราะห์มา ทั้งนี้ “แม่ครู” ยังได้นำโคมไปแสดงในสถานที่ต่างๆ ทั้งในเมืองเชียงใหม่ กรุงเทพฯ รวมไปถึงต่างประเทศ อาทิ ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เป็นต้น
สำหรับโคมที่จำหน่ายในย่านชุมชนเมืองสาตร ก็จะมีโคมขายกันหลายร้าน และหลากหลายประเภท เช่น โคมล้านนา (โคมแปดเหลี่ยม) โคมร่ม โคมดาว โคมเพชร โคมบัว โคมญี่ปุ่น โคมผัด หรือโคมหมุน โคมจีน โคมหูกระต่าย โคมล้านนาประยุกต์ โคมลอยหรือว่าวลม และโคมไฟ หรือว่าวไฟ
ใครสนใจอยากได้โคมมาประดับตามงานและสถานที่ต่างๆ ก็ตรงดิ่งไปเลย ที่บ้านเมืองสารต ตำบลหนองหอย ตัวอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนอกจากท่านจะได้โคมสวยๆ มาประดับแล้ว การมาอุดหนุนโคมที่นี้ยังถือเป็นอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของชาวเหนือไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก และสืบทอดให้คงอยู่ตลอดไป