ตลาดถือเป็นสถานที่ที่บ่งบอกความเป็นไปในเศรษฐกิจของชุมชน กล่าวคือถ้าชุมชนไหนมีตลาดที่มีการจับจ่ายซื้อขายกันดี คล่องเป็นขี้ไหล อันนี้ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่าชาวบ้านชาวช่องแถวนั้น มีความเป็นอยู่กันที่ดี
เมื่อมีคนเอาของมาขาย ก็ต้องมีคนซื้อ และเมื่อมีคนซื้อ ก็ต้องมีคนที่ผลิตเพื่อที่จะป้อนสินค้าให้กับคนขายต่อแบบไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ในเมื่อของมันก็ขายได้กันแบบเห็นๆ
กรณีอย่างตลาดวัดโป่งน้อย ตลาดในชุมชนเล็กๆ ที่ชาวบ้านขออาศัยพื้นที่ในวัดโป่งน้อยเพื่อทำมาหากินในทุกเย็นวันเสาร์และวันจันทร์ตั้งแต่เวลา สี่โมงเย็นเป็นต้นไปจนถึงสองสามทุ่ม ถือเป็นตลาดที่พอจะหยิบยกเอามาเล่าให้ฟังในความเป็นไปของคนในชุมชนกับพื้นที่ค้าขายแห่งนี้
พื้นที่ในวัดโป่งน้อยขนาดพอเหมาะ ลักษณะลานกว้าง เป็นสถานที่อันวางแผงลอยร้านค้าต่างๆ ของชาวบ้าน ที่เอาสินค้ามาขายกัน ไล่ไปตั้งแต่พืชผักสวนครัว ที่ปลูกกันเอง เอามาขายเองอย่างคึกคัก (ขายดีกันเลยทีเดียวล่ะ) ถ้าเหลือก็เก็บเอาไว้กิน ของสดต่างๆ อย่างพวกเนื้อสัตว์ วัว หมู ไก่ ปลา อันนี้มี แผงลอยอาหารต่างๆ ทั้งของกินเล่น กับข้าวในตอนเย็น ผลไม้ อันนี้ก็มีเช่นกันเหมือนตลาดทั่วๆ ไป
เสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้า เข็มขัด เครื่องอุปโภคบริโภค พวกนี้มีกันอยู่แต่ไม่หนาตา มีมาขายพอให้รู้ว่ามี ปกติถ้าเป็นตลาดนัดที่อื่น ต้องบอกว่าเพียบเลยล่ะ พวกรถขายของพ่อค้าแม่ค้าที่มาจากต่างถิ่น อย่างต่ำๆ ก็กระบะเป็นสิบคัน
ที่ควรตำหนินิดๆ น่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพอนามัยของอาหาร เนื่องจากเมื่อเราเหลียวมองลงไปยังบนพื้น มันไม่ใช่พื้นซีเมนต์เหมือนกับตลาดใหญ่ๆ ทั่วไปที่มีหน่วยงานอะไรซักอย่างมารับประกันว่าเป็นตลาดที่สะอาด ถูกหลักอนามัย แต่มันเป็นพื้นดินที่น่าจะมีฝุ่นอยู่พอสมควร
โอเค ของสดอย่างเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ เรายังเอากลับไปล้างให้มันสะอาดที่บ้านกันได้ แต่ถ้าเป็นอาหารที่ทำสำเร็จรูปแบบพร้อมรับประทาน อันนี้ก็ควรจะต้องระวังดูหน้าดูหลังซักนิด โดยเฉพาะคนที่ซื้อแล้วกินกันทันที ณ จุดนั้น ถ้าร้านไหนมันทำไม่ได้ในเรื่องของความสะอาดของอาหาร คุณๆ ก็ต้องไปวัดดวงกันเอาว่าท้องไส้จะอยู่รอดปลอดภัยดีรึเปล่า ส่วนใครที่ซื้อไปกินอยู่บ้าน ถ้าอาหารมันอุ่นได้ก็อุ่นกันเถอะครับ มันไม่ลำบากนักหรอก เผื่อเวลาเป็นอะไรมาจากอาหารที่รับประทานลงไปจะมานั่งนึกเสียใจทีหลังว่าวันนั้นตูควรจะอุ่นก่อนกินว่ะ
กันไว้ดีกว่าแก้ พอมันเป็นแล้วแย่ อาจารย์แม่ก็ช่วยไม่ได้นะจ๊ะ