บางเรื่องของ หอพญามังราย

DSCF7035

จำได้ว่าตัวเองเคยเล่าเรื่องหอพญามังรายไป ตรงบริเวณสี่แยกตรงย่านกลางเวียง ถนนราชดำเนิน และวันดีคืนดี ก็ตาดีนึกสงสัย เนื่องจากไปเจอป้ายหอพญามังรายจากจุดสี่แยกที่ผมว่ามาทางวัดดวงดี และเมื่อเดินเข้าไปด้านในปรากฏว่าที่ตรงนั้นเป็นที่ตั้งของหอพญามังราย

แน่นอน ข้อสงสัยย่อมเกิดขึ้นมาว่าตกลงแล้ว หอพญามังราย จริงๆ แล้วควรจะอยู่ตรงไหนกันแน่

จากข้อมูลที่ค้นพบ บอกว่าจริงๆ แล้ว หอพญามังราย จะอยู่ข้างวัดดวงดี (ที่ที่ผมมานี่แหละ) บนถนนพระปกเกล้า โดยที่ตรงนั้น เป็นสถานที่สิ้นพระชนของพญามังราย ส่วนบริเวณตรงสี่แยกกลางเวียงนั้น คือการจำลองสถานที่ออกมาให้คนได้เห็น และสะดวกต่อการเคารพมากกว่าหอด้านใน เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวคับแคบ สรุปแล้วก็คือ ข้างในของจริง ของนอกของจำลอง

DSCF7031

แต่ถ้าถามว่าตรงไหนเวิร์กกว่ากัน ผมว่ามาสักการะตรงด้านในน่าจะดีกว่า อีกทั้งมันก็ไม่ได้ไกลกันมาและลำบากอะไรเลย

สำหรับบางคนที่ยังไม่รู้อะไรว่าหอพญามังรายมีความสำคัญในฐานะอะไรนั้น ก็อยากจะบอกว่าถูกสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์สถานแด่พญามังราย ผู้ตั้งเมืองเชียงใหม่ โดยสถานที่ดังกล่าวเป็นที่สิ้นพระชนของพญามังราย

DSCF7032

DSCF7034

ส่วนประวัติของพญามังรายนั้นจะขอเล่าซ้ำกันอีกรอบ ว่า ณ ที่ราบลุ่มเชียงแสน เมืองหิรัญนครเงินยาง ในปี พ.ศ.1782 พญาลาวเม็งและนางเทพคำขยาย ธิดาท้าวรุ่งแก่นชาย เจ้าเมืองเชียงรุ้งได้ให้กำเนิดราชบุตรพระองค์หนึ่ง ใส่ชื่อเจ้าราชบุตรว่า เจ้ามังราย, เจ้ามังรายได้รับพิธีพุทธาภิเษกเป็นพญามังรายครองเมืองหิรัญนครเงินยางต่อจากพระราชบิดา เมื่อปี พ.ศ.1804 ขณะที่มีพระชนมายุได้ 22 พรรษา นับเป็นกษัตริย์ในราชวงค์ลาวจักราชองค์ที่ 25 และ ได้ยก ไพร่ พล ช้าง ม้า จำนวนมาก ไปตีเอาเมืองใกล้เคียง ที่รบราฆ่าฟันแย่งกันเป็นใหญ่ ได้เมืองผาแดงเชียงของ

ในปี พ.ศ. 1805 พญามังรายได้ทรงย้ายศูนย์กลางจากเมืองหิรัญนครเงินยางมาสร้างเมืองเชียงราย พร้อมรวบรวมแว่นแคว้นต่างๆ เข้าเป็นอาณาจักรล้านนาไทย ทรงตรากฏหมาย “มังรายศาสตร์” ขึ้นใช้ปกครองบ้านเมือง และ ครองเมืองอยู่เพียง 10 ปีเท่านั้น จึงย้ายไปสร้างเมืองและประทับที่เมืองฝางในปี พ.ศ. 1816 ทั้งนี้อาจจะต้องการขยายอาณาเขตแคว้นหิรัญนครเงินยางให้กว้างขวางลงมาแถบลุ่มแม่น้ำปิงที่อุดมสมบูรณ์กว่า

พญามังรายทรงทราบถึงความเจริญรุ่งเรืองมั่งคงและอุดมสมบูรณ์ของแคว้นหริภุญไชย (เมืองลำพูน) พญามังรายทรงยึดแคว้นหริภุญไชยได้จากพญายีบาในปี พ.ศ.1835 และ ประทับอยู่เพียงสองปี จึงมอบให้อ้ายฟ้าครองแทนเมืองลำพูน แคว้นหริภุญไชยจึงรวมอยู่ในอาณาจักรล้านนาตั้งแต่นั้นมา

หลังจากพญามังรายทรงครองเมืองลำพูนแคว้นหริภุญไชยได้สองปีก็ทรงย้ายมาสร้างเมืองใหม่ที่เวียงกุมกาม ในราวปี พ.ศ.1837 โดยขุดคลองชักแม่น้ำปิงเข้าใส่ล้อมรอบเมืองทั้งสี่ด้าน พร้อมสร้างบ้านเรือนและตลาดให้เป็นที่ซื้อขายของคนทั้งหลาย

DSCF7036

พญามังรายประทับที่เวียงกุมกามได้ราวห้าปี จึงพบอัศจรรย์ฟานเผือกสองตัว แม่ลูกต่อสู้กับหมาของพรานป่าโดยมิเกรงกลัว ซ้ำยังขับไล่หมาให้กระเจิดกระเจิงไปด้วย ขณะเสด็จประพาสป่าเชิงดอยอุชุปัตตา (ดอยสุเทพ) นับเป็นความอัศจรรย์ยิ่งนัก จึงตัดสินใจสร้างเวียงกรวม ให้เป็นชัยนครในป่าลอมคอกนี้ โดยสร้างคุ้มวังมณเฑียร หอนอน โรงช้าง โรงม้า กำแพง คลอง คู ล้อมรอบไว้ทั้งสี่ด้าน ด้านละ 3,000 วา พร้อมกับเชิญพระสหายคือ พญางำเมือง พญาร่วง มาปรึกษาหารือ ซึ่งเห็นด้วยกับสิ่งอัศจรรย์ จึงร่วมกันตั้งเวียงภายใต้ชัยมงคล 7 ประการ และ ให้นามว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ในปี พ.ศ.1839

พญามังรายเป็นกษัตริย์องค์ที่ 25 ในราชวงค์ลาวจักราช และ เป็นกษัตริย์ในราชวงค์มังราย ครองเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ตราบพระชนมายุได้ 72 พรรษา ก็จุติไปสู่โลกภายหน้าด้วยวิบากจากอนุนีบาต เสด็จสวรรคต ณ บริเวณตลาดกลางเวียงเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.1854

เอาเป็นว่าใครมีโอกาสแวะไปสักการะหอพญามังราย สะดวกกันตรงไหน ก็เชิญกันได้ตามอัธยาศัยครับ ส่วนเรื่องปัยาคาใจของหอพญามังรายทั้งสองที่ ผมนี้ได้ไขข้อกระจ่างแล้ว