ถ้าในฐานะความสนิทสนมของตัวเองกับ “กว่าง” ตั้งแต่สมัยยังเด็ก ถือว่าอยู่ในระดับเรียบเฉย ไม่มีอะไรหวือหวามาก ทั้งนี้ถ้าให้จำเพาเจาะจงลงไปกับสัตว์อื่นๆ ในสายพันธุ์แมลงเหมือนกันอย่างแมลงทับ ถือว่าอย่างหลังคุ้นเคยกว่ากันเยอะ
แต่ถึงแม้ว่าจะไม่สนิทมาก “กว่าง” ก็ยังมีความเกี่ยวพันกับผมทางอ้อม เพราะในช่วงสมัยเด็กๆ เวลาไปหาแมลงทับตามป่า “กว่าง” มักจะติดไม้ติดมือมาด้วยเสมอ ทำนองตั้งใจมาหาแมลงทับ แต่ถ้าได้กว่างกลับไปด้วย ก็ถือว่าเป็นโบนัสไป
อีกหนึ่งสาเหตุที่ผมไม่ค่อยได้สนใจไยดีมันมาก เป็นเรื่องของเล็บกว่างครับ เนื่องจากเวลาเราจับจับมัน แน่นอนว่ามันจะใช้เล็บมาเกาะตามมือตามนิ้วจนบางทีก็ข่วนเอาดื้อๆ ฉะนั้น คือถ้าจะเล่น ก็จะพยายามไม่ไปจับมันมากถ้าไม่จำเป็น
พูดถึงประเพณีการชนกว่างในดินแดนแดนล้านนา ถือว่าเป็นที่นิยมเล่นกันมาเป็นเวลานานจนกลายเป็นประเพณี แต่จะมีการเริ่มเล่นกันมาตั้งแต่เมื่อใด ยังไงนั้น ไม่มีหลักฐานปรากฎ รู้เพียงแต่ว่าปัจจุบันความนิยมในการเล่นนั้นมีไม่มากเท่ากับในอดีต
การเล่นชนกว่างของชาวล้านนานิยมเล่นกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ (บางคนเลี้ยงไว้ดูเล่นเพื่อความสวยงาม) เฉพาะในฤดูฝนคือประมาณเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม พอออกพรรษาแล้วก็ค่อยๆ เลิกราปล่อยกว่างกลับสู่ธรรมชาติ เพื่อสืบลูกสืบหลานเพื่อการเกิดใหม่ในปีหน้าตามวัฏจักรของมัน
การหากว่างมาเลี้ยงนั้นมีด้วยกันสองวิธีหลักๆ คือหนึ่งไปเดินหาซื้อเอาตามตลาดนัดอย่าง เช่น ตลาดหลังปริ้น ซึ่งจะมีกว่างเขาโค้งลักษณะดีให้เลือกหา กว่างพวกนี้ส่วนใหญ่พ่อค้านำมาจากภาคเหนือตอนล่างอย่างเพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และบางจังหวัดจากภาคอีสานอย่างอุดรธานี ชัยภูมิ ซึ่งสาเหตุที่กว่างในภาคเหนือลดน้อยลง เพราะถิ่นกำเนิดของมันถูกรุกล้ำ จากการขยายพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งดินที่พวกมันเคยถูกใส่สารเคมีทางการเกษตรจนพวกมันอยู่ไม่ได้ สุดท้ายก็เลยมีจำนวนลดน้อยลง หรือถ้ามีก็เป็นตัวเล็กๆ กันเท่านั้น
ส่วนอีกวิธีอันนี้ต้องลงทุนไปหาเองตามป่าครับ โดยการใช้กว่างล่อที่มีขนาดเล็ก เช่น กว่างกิ หรืออาจจะใช้กว่างตัวเมีย ซึ่งพอได้กว่างตัวสวยมา ก็จะเอามาเลี้ยง แต่ถ้าตัวไหนไม่สวยปล่อยไปก็มี
อย่างที่ได้เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ หลักๆ เมื่อได้กว่างมาก็จะเอามาชนเป็นอันดับหนึ่ง ที่เหลือก็จะเป็นการเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม
ในส่วนการแข่งขันชนกว่างนั้นจะจับกว่างแม่อีลุ้มหรือกว่างตัวเมียลงใต้คอน ให้กว่างตัวผู้สองตัวประจันหน้าเข้าหากัน โดยเจ้าของกว่างจะปั่นไม้กับคอนให้มีเสียงดัง จากนั้นกว่างทั้งสองก็จะเดินหน้าเอาเขาหนีบคู่ต่อสู้อย่างจริงจัง โดยลักษณะของกว่างดีที่จะนำมาชนนั้นต้องมีหน้ากว้าง กางเขาออกได้เต็มที่ เขาล่างจะยาวกว่าเขาบนนิดหน่อย ถ้าเขาล่างยาวกว่าเขาบนก็จะเรียกว่า “กว่างเขาหวิด” ถือว่าหนีบไม่แรง ไม่แน่น กว่างชนที่ดีนั้นส่วนหัวต้องสูง ท้ายทอยลาดลงเป็นสง่า แต่ถ้าท้ายทอยตรงโคนเขาบนเป็นปมไม่เรียบ ถือว่าเป็นกว่างไม่ดี กว่างที่ดีต้องเป็นกว่างที่ฉลาดสอนง่าย
ปัจจุบันการเล่นกว่างนั้นยังพอมีให้เห็นกันบ้าง ทั้งนี้การเล่นกว่างเปรียบเสมือนตัวกลางเชื่อมโยงให้คนรุ่นปัจจุบันได้สัมผัสกับวิถีอดีตของล้านนา และด้วยความที่สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนไป อันเกิดจากฝีมือมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ จนจำนวนกว่างลดน้อยลง อนาคตต่อไปข้างหน้าของการเล่นกว่างก็ยากเกินจะคาดเดา
เครดิตภาพ https://www.facebook.com/RaksKwangChiangRai