ขอสารภาพกันตรงนี้ก่อนว่า ผมไม่ใช่คนเชียงใหม่แต่กำเนิด แต่แค่มาอาศัยอยู่ที่นี้เกือบสองปีแล้ว ฉะนั้น ผมก็คงเหมือนกับคนทั่วๆ ไป ต่างพื้นที่ ที่มักจะสนใจในประเพณี พิธีกรรมต่างๆ ของท้องถิ่น และหนึ่งในประเพณีที่ได้รับความสนใจพอสมควร จากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ในแต่ละปี คงหนีไม่พ้น “ประเพณีเลี้ยงดง”
แต่ก่อนจะไปทำความรู้จักกันกับ “ประเพณีเลี้ยงดง” โปรดหันหน้ามาทำความรู้จักกันกับ “ปู่แสะ – ย่าแสะ” ในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกันกับประเพณีดังกล่าว
ปู่แสะ – ย่าแสะ คือยักษ์ 2 ผัวเมียที่ชื่อ “จิคำ” และ “ตาเขียว” ก่อนต่อมาชาวบ้านได้เรียกยักษ์ทั้งสองนี้ว่า “ปู่แสะ – ย่าแสะ” อาศัยอยู่บนดอยคำ มีลูก 1 คน ชื่อว่า “สุเทวฤๅษี” ซึ่งทั้งยักษ์ทั้ง 3 ตน นี้มีเชื้อสายมาจากชนเผ่าลัวะ
จากตำนานวัดดอยคำบอกว่า ในยุคที่ชนเผ่าลัวะทั้งหลายแห่งระมิงคนคร กำลังประสบกับความเดือดร้อนอันเนื่องจากยักษ์ 3 ตน ที่ดำรงชีพด้วยการกินเนื้อมนุษย์ พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยญาณอันวิเศษของพระองค์ จึงได้ทรงเสด็จสู่ระมิงคนคร เพื่อแสดงธรรมโปรดยักษ์ทั้ง 3 ตน และบรรเทาความเดือดร้อนของชาวเมืองระมิงค์
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงนิวาสสถานของ 3 ยักษ์ พ่อ แม่ ลูก ที่ดอยคำ ทันทีที่ยักษ์ทั้งสามเห็นพระพุทธองค์มาถึง ก็หมายมั่นเตรียมจะจับกินเป็นอาหาร แต่พระพุทธองค์ทรงทราบถึงวิสัยของยักษ์ทั้งสามดี จึงแผ่พระเมตตาไปยังยักษ์ทั้งสามเหล่านั้น
ด้วยพระบารมีและบุญญาธิการของพระองค์ ทำให้กระแสจิตของยักษ์ทั้งสามอ่อนลง และเข้ามาก้มลงกราบแทบพระบาทของพระพุทธองค์ และพระพุทธองค์จึงแสดงธรรมโปรดยักษ์ทั้งสาม ปรากฏว่ายักษ์ผู้เป็นลูกยอมปฏิบัติตามและสมาทานศีล 5 ได้ ส่วนยักษ์จิคำและตาเขียวผู้เป็นพ่อแม่ ไม่สามารถจะรับศีล 5 ได้ เพราะยังต้องยังชีพด้วยการฆ่ามนุษย์และสัตว์เป็นอาหาร และขออนุญาตกินเนื้อมนุษย์ปีละ 2 ครั้ง แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต จึงต่อรองขอกินเนื้อสัตว์แทน
สำหรับยักษ์ผู้บุตรนั้นได้ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ พระองค์จึงทรงอนุญาตและได้แสดงธรรมให้ฟัง ยักษ์ผู้บุตรนั้นอยู่ในสมเพศได้ไม่นาน ก็ขออนุญาตพระองค์ลาสิกขา และไปบวชเป็นฤๅษีถือศีลอยู่ที่หุบเขาอุจฉุบรรพต (ดอยสุเทพ) ชื่อ “สุเทวฤๅษี”
ต่อมาก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จต่อไปยังสถานที่แห่งอื่น พระองค์ได้ประทานพระเกศาแก่ยักษ์ปู่แสะและย่าแสะ พร้อมได้ตรัสว่า “ดูกรเจ้ายักษ์ทั้ง ๒ จงรับและเก็บพระเกศานี้ไว้เคารพบูชาแทนเรา เมื่อเราได้นิพพานไปแล้ว และในวันข้างหน้าจะมีผู้ใจบุญกุศลมาชุมนุมกัน ณ ที่แห่งนี้”
ยักษ์ทั้ง 2 ตน พอรับเอาพระเกศาจากพระองค์แล้ว ก็เอาไปบรรจุไว้ในผอบแก้วมรกตและบูชากราบไหว้เป็นนิจสิน จึงเกิดศุภนิมิตขึ้นด้วยมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน และน้ำฝนได้หลั่งไหลจากภูเขาต่าง ๆ ลงมาชะล้างแร่ธาตุทองคำตามหุบเขาราวห้วย พัดพาทองคำไหลลงสู่ปากถ้ำเป็นจำนวนมาก ผู้คนจึงเรียกภูเขาและถ้ำนี้ว่า ถ้ำคำและดอยคำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาถึงทุกวันนี้
ภายหลังเมื่อยักษ์ผู้บุตร ได้ลาสิกขาออกมาและไปบวชเป็นพระฤๅษีอยู่หลังดอยสุเทพ ยักษ์ผู้เป็นพ่อชื่อ จิคำ ที่ชาวบ้านเรียกว่า ปู่แสะ ก็ไปถือศีลดำรงชีพอยู่บริเวณใกล้ ๆ กับวัดฝายหิน เชิงดอยสุเทพ ส่วนยักษ์ผู้เป็นแม่ชื่อ ตาเขียว ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ย่าแสะ ได้อยู่ดูแลรักษาถ้ำดอยคำและพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจนสิ้นชีวิต (เรื่องสุเทวฤๅษี จะไม่ขอเล่าต่อละกัน เดี๋ยวจะยาว เพราะมันโยงไปถึงเรื่องของพระนางจามเทวีด้วย)
มากันที่ประเพณีเลี้ยงดง ประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อบวงสรวงยักษ์ปู่แสะ-ย่าแสะ โดยการเชือดควายดำสังเวยให้ร่างทรงได้กินเนื้อควายดิบอย่างเอร็ดอร่อย พร้อมเครื่องสักการะ ได้แก่ หม้อดินเผา 4 ใบ สุรา กล้วย 4 หวี มะพร้าว 2 คู่ เสื้อผ้า หมากพลู ข้าวตอก ดอกไม้ โดยมีความเชื่อกันว่า ปู่แสะ-ย่าแสะ เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองชาวบ้านให้อยู่ดีกินดี ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ป่าไม้ไม่มีคนไปบุกรุกทำลาย หากปีไหนไม่ฆ่าควายเซ่นผี เชื่อว่าจะทำให้เกิดโรคระบาดและเกิดทุกข์ภัยขึ้นได้
ในมุมของคนต่างถิ่น ภาพจากสื่อมวลชนต่างๆ ของประเพณีดังกล่าว อาจจะดูโหดเหี้ยมกันพอสมควร (ภาพร่างทรงกำลังนั่งกินเนื้อควายดิบๆ ท่ามกลางเศษซากควายที่ถูกชำแหละแล้ว) แต่ในมุมของคนในท้องที่ นี้ถือเป็นเรื่องปกติที่ทำกันมาเป็นร้อยๆ ปี เพื่อรักษาพื้นป่าแถวนี้ไม่ให้ถูกทำลาย ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ถามว่ามันคุ้มมั้ยที่ต้องเชือดควาย 1 ตัวเพื่อแลกกับความสบายใจของใครหลายๆ คนในท้องที่แห่งนี้
คำตอบคาดว่าคงมีทั้งคุ้มและไม่คุ้ม แต่กระนั้นเรื่องความเชื่อแบบนี้ ก็คงต้องใช้วิจารณญาณในการรับชมกันเองครับ