ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ชาวเขาบ้านแม้วดอยปุย ครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วยังพอไหวนะครับ แต่ล่าสุดที่ถ่อไปโดยมอเตอร์ไซค์สองล้อ ต้องบอกว่ามาตรฐานตกต่ำลงไปเยอะในส่วนจัดแสดง
ก็ไม่รู้นะว่า เขาลดความใส่ใจลงไปรึเปล่า หรือส่วนอื่นๆ ในบ้านดอยปุยมันทำเงินมากกว่า แต่อย่างน้อยๆ ไหนๆ ก็ก่อตั้งมันมาจะ 30 ปีแล้ว (ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2527) ก็ช่วยทำให้มันดีๆ ขึ้นหน่อยครับ
คือถ้าไม่ดีขึ้น ก็ขออย่าให้เลวร้ายลงเป็นพอ….
หลังจากเดินเล่นเลอะเทอะไปเรื่อยเปื่อยตามประสาตัวเองในบ้านดอยปุย เพื่อให้ครบสูตรกับการแวะมาเที่ยวที่นี้ แล้วต้องมีไฟต์บังคับว่าต้องชมพิพิธภัณฑ์ชาวเขาบ้านแม้วดอยปุย ซักนิด ดูซิว่าไม่ได้มานานจะเป็นปี มันเป็นยังไงบ้าง อารมณ์ประมาณแวะมาเยี่ยมเพื่อนฝูงซักหน่อย
ควักเงิน 10 บาท จ่ายค่าบัตรเพื่อเข้าชม ก่อนจะเดินสับตีนไป ซัก 100 เมตร ฝ่าร้านรวงของที่ระลึกต่างๆ ของชาวบ้าน ก็เป็นถึงหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์
ปกติจะมีคนตรวจตั๋วอยู่ด้านหน้าครับ แต่วันนี้ไม่รู้ว่าหายหัวไปไหน ผมเลยถือวิสาสะเดินเข้าไปชมเลยล่ะกัน ยังไงถ้าจะมาตรวจตั๋วตู ค่อยหยิบขึ้นมาให้เขาดูเอา
จากประวัติความเป็นมา บอกว่าพิพิธภัณฑ์ชาวเขาบ้านแม้วดอยปุย แห่งนี้ถูกก่อตั้งจาก พ่อหลวงบ้านดอยปุยนาม ยิ่งยศ หวังวนวัฒน์ ซึ่งเป็นคนม้ง โดยแกใช้เงินทุนส่วนตัวหาซื้อของเก่ามาจัดแสดงไว้ในนี้ และบางส่วนก็ทำการเก็บสะสมเอง พร้อมขอรับบริจาคจากชาวบ้าน ก่อนจะสร้างพิพิธภัณฑ์ชาวเขาบ้านแม้วดอยปุย ในที่ดินของตนเอง
จุดประสงค์การทำ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการกลัวว่าลูกหลานจะไม่ได้เห็นอีกต่อไป ฉะนั้น การรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้ไว้แบบเป็นที่เป็นทาง น่าจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับพวกเขา และประโยชน์อีกด้านก็เพื่อช่วยส่งเสริมทางด้านการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ รายได้จากการขายบัตรเข้าชม นอกเหนือจากเป็นค่าจ้างคนมาดูแลพิพิธภัณฑ์ เงินส่วนที่เหลือนำไปบริจาคช่วยเหลือทุนอาหารกลางวันเด็กนักเรียน และงานพัฒนาหมู่บ้าน
แวะเดินเข้ามาชมด้านใน ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเยอะจากแต่เดิมที่ตัวเองมาเที่ยว (แต่รู้สึกว่ามืดขึ้นยังไงชอบกล) รูปภาพชาวเขายังแปะข้างผนังโชว์ให้เห็น รวมทั้งเกร็ดความรู้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับประชากรชาวเขาในเมืองไทย ที่เหลือก็จะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือสมัยเก่าที่ถูกเอามารวบรวมไว้
ถัดจากส่วนนี้เข้าไปอีกห้อง คราวที่แล้วผมมามันยังเป็นหุ่นใส่ชุดชาวเขาโชว์ไว้อยู่ แต่ล่าสุดปรากฏว่าหายไปไหนก็ไม่ทราบ ซึ่งคาดว่าคงโดนเอเลี่ยนลักพาตัวไป พอๆกับของบางอย่างในห้องนี้ที่หายไปเยอะจนแทบจะว่างเปล่าเหมือนกับสนามฟุตบอล
ขากลับออกมา เจอป้ายเล็กๆ ติดไว้ข้างเสาว่าตรวจตั๋วเข้าชม ซึ่งใกล้ๆ กันนั้น มีป้าแก่ๆคนนึงกำลังเย็บผ้าอย่างมันส์มือ ผมเลยหยิบตั๋วยื่นให้แก เพื่อเป็นการแสดงความซื่อสัตว์ว่าตัวเองไม่ได้เข้ามาดูฟรีนะ แต่ผมเสียตังค์แล้ว เผอิญตอนมาไม่เห็นป้าอยู่ก็เท่านั้น
ไม่รู้ว่าป้าแกสนใจกับเรื่องค่าตั๋วมากน้อยขนาดไหน ซึ่งจากพฤติกรรมเฉยชาประหนึ่งเสาไฟฟ้าตามถนน บางทีค่าตั๋วพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ อาจไม่มีความหมายสำหรับป้าแล้วก็ได้?