นั่งนึกถึงตัวเองตอนสมัยมัธยมต้น ในวิชาภาษาอังกฤษก็ยังขำไม่หาย ไม่รู้ว่าอาจารย์ท่านไหนเป็นคนคิดไอเดียนี้ กับการให้นักเรียนเขียนจดหมายภาษาอังกฤษถึงเพื่อนต่างโรงเรียน โดยการระบุเลขที่ในชั้นเรียน จากนั้นก็รอเพื่อนคนนั้นตอบกลับมาเป็นภาษาอังกฤษเช่นเคย ซึ่งก็ต้องลุ้นกันทีเดียวเลยล่ะว่า จดหมายจะถึงมือมั้ย หรือเมื่อได้รับแล้วจะตอบกลับมารึเปล่า และถ้าตอบ มันจะเขียนตอบกลับมายังไง
ดูๆ ไปแล้ว ก็ต้องบอกว่า เอาความหวังผลการเรียนวิชานี้ ไปฝากกับใครไม่รู้ ที่เราไม่เคยรู้จัก ถ้าโชคดีส่งไปเจอเด็กเรียนก็แล้วไป แต่ถ้าซวยเมื่อไหร่ ดันไปตกถึงมือเด็กเกเร เรียนไม่เอาอ่าว เนี่ยแหละครับ ก็รับชะตากรรมไปซะ
ส่วนนอกเหนือจากนั้น ถ้าเพื่อนต่างโรงเรียนติดต่อกลับมา บังเอิญเธอเป็นสาวน่ารัก (อาจจะมีรูปแนบมาด้วย) อันนี้ก็ถือเป็นโชคดีสองชั้นในการจะสานสัมพันธ์กันต่อนะครับ อิอิ
ไอ้ที่ผมเล่าเรื่องการเขียนจดหมายมานิ ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เผอิญนึกขึ้นได้ระหว่างไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรมา และอีกเรื่องก็นึกได้ว่า นานเท่าไหร่แล้วว่ะ ที่เราไม่ได้เขียนจดหมายกัน (ให้เวลานึก 2 นาที)
เป็นชาติ! ต้องบอกกันอย่างงั้น ยิ่งสมัยนี้ social network หลายสายพันธุ์ผุดกันราวกันกับดอกเห็ดในยามหน้าฝน เรื่องส่งจดหมาย คนลุกขึ้นมาเขียน อาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็นเต่าล้านปี เหมือนกับหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง ในพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรแห่งนี้ที่ได้ทำการจัดเก็บสิ่งของเก่าๆ เกี่ยวกับตราไปรษณียากร ให้ผู้คนได้มาเยี่ยมชม
เดินเข้าไปสำรวจด้านในพิพิธภัณฑ์กัน ฝั่งทางขวามือจะมีตู้โชว์ตราไปรษณียากรชุดแรกของไทย และของโลก เขยิบไปในอีกนิด มีเครื่องโทรศัพท์แมกนิโตแบบหิ้ว แบบแขวน แบบตั้งโต๊ะ ส่วนในๆสุดของโซนนี้จะมีการแสดงตราไปรษณียากรหลายแบบในสมัยเก่า ที่จะระบุปี ชื่อคนคิด วิธีพิมพ์และรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และนอกจากนี้ก็ยังมีตู้ไปรษณีย์เก่า แม่พิมพ์รูปหล่อ เครื่องโทรเลข ของที่ระลึกให้ได้ซื้อเก็บไปสะสมกัน อย่างเสื้อ หมวก นาฬิกา แสตมป์ ซึ่งสถานที่จัดแสดงมีด้วยกันสองชั้น
ที่เหลือจากการจัดแสดงสิ่งของ ทางพิพิธภัณฑ์มีบริการจำหน่ายตราไปรษณียากรเพื่อการสะสม จำหน่ายอุปกรณ์สำหรับการสะสมตราไปรษณียากร บริการรับสมัครสมาชิกบัญชีเงินฝากตราไปรษณียากร บริการรับสมัครสมาชิกวารสารตราไปรษณียากร บริการรับสมัครสมาชิกจุลสารตราไปรษณียากร บริการแนะนำเทคนิคการสะสมตราไปรษณียากร นิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับตราไปรษณียากร นิทรรศการอุปกรณ์ต่างๆ ในกิจการไปรษณีย์ในอดีต และบริการห้องสมุดเกี่ยวกับตราไปรษณียากร
ใครที่เป็นคอแสตมป์ ชอบสะสม รักใคร่ หลงใหลกับเรื่องแบบนี้ ลองแวะไปสัมผัสกันดูครับ ที่พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร ตรงถนนไปรษณีย์ ตำบลช้างม่อย ในตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยจะเริ่มเปิดตั้งแต่เวลา 08.30 น. – 16.30 น. ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ ค่าเข้าชมฟรีครับพี่น้อง
ถือซะว่า มาลองสัมผัสความเป็นอดีตของตราไปรษณียากรกัน เผื่อบางท่านอาจจะนึกครึ้มอกครึ้มใจ เขียนจดหมายส่งหาใครซักคน…