พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา

C360_2013-10-25-16-18-38-683

เอาเข้าจริงจะมีซักกี่คนที่มาเดินดูพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนาแบบผม ยิ่งเมื่อคำนวณอายุอานามตัวเองแล้ว การมาชมพิพิธภัณฑ์แบบนี้ คนแก่ในวัย 40 – 50 ปีขึ้นไป คือบุคคลที่ควรจะมาเดินชม มากกว่าตัวผมเอง

มองในมุมคนอายุเยอะ บางทีการเห็นอะไรแบบสมัยเก่า ตั้งแต่ตัวเองยังเด็ก อาจจะเป็นเรื่องเคยชิน ว่าแล้วก็เอาเวลาที่เหลือหันไปสนใจอะไรที่มันไฮเทคกว่าในโลกปัจจุบัน (เรื่องเทคโนโลยี?) และเมื่อใช้ตรรกะด้วยกันในการคิด คนรุ่นราวคราวเดียวกับผม สมควรที่จะไปดูของเก่าๆ แบบนี้มากกว่า?

C360_2013-10-25-16-21-35-171

C360_2013-10-25-16-04-25-603

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา หลายคนยังไม่เคยมา หรือยังไม่เคยรู้จักว่าตั้งอยู่ตรงไหนส่วนไหนของเชียงใหม่ เอาง่ายๆมันอยู่ติดกับถนนเลียบคลองชลประทาน ใกล้สี่แยกตลาดต้นพยอม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้ทำการรวบรวมเรือนโบราณที่ได้จากการบริจาคหรือขายให้กับพิพิธภัณฑ์ โดยจะประกอบไปด้วยกลุ่มเรือนโบราณที่ควรค่าแก่การศึกษาและอนุรักษ์ จำนวน 8 หลัง ดังนี้

C360_2013-10-25-16-07-30-609

เรือนไทยลื้อ (หม่อนตุด) เรือนไม้ขนาดกลาง สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2460 เป็นของอุ๊ยตุด เดิมตั้งอยู่ที่บ้านเมืองลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด

เรือนลุงคิว เป็นอาคารสำนักงานของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม อาคารรูปทรงแบบ โคโลเนียล (Colonial) สร้างขึ้นราว พ.ศ.2465 มีหม่องตันเป็นสถาปนิกและผู้รับเหมาก่อสร้าง เจ้าของคือ นายอาเธอร์ ไลออนแนล เคอริเปล์

C360_2013-10-25-16-08-20-511

เรือนกาแล (อุ๊ยผัด) เป็นเรือนกาแลขนาดเล็ก มีความยาวเพียง 3 ช่วงเสา แต่ละช่วงเสามีความยาวน้อยกว่าเรือนกาแลแบบอื่น เรือนกาแลมีหำยนต์ ติดด้านบนของประตูห้องนอน มีไว้เพื่อทำหน้าที่เป็นยันต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ป้องกัน และขับไล่อันตรายต่าง ๆ จากภายนอก สร้างราว พ.ศ. 2460 เดิมตั้งอยู่ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

C360_2013-10-25-16-13-22-384

เรือนพื้นบ้านล้านนาอุ๊ยแก้ว เดิมเป็นของอุ๊ยอิ่น และอุ๊ยแก้ว ธาระปัญญา ตั้งอยู่บ้านสันต๊กโต (สันติธรรม) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นรูปแบบเรือนของคนที่อาศัยใกล้เวียงเชียงใหม่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ลักษณะการจัดพื้นที่ใช้สอยยังเป็นแบบบ้านชนบทแต่ทำฝาและประตูหน้าต่างแบบใหม่

C360_2013-10-25-16-12-47-397

เรือนกาแล (พญาวงศ์) เป็นเรือนไม้ขนาดกลางใต้ถุนสูง หลังคาทรงหน้าจั่ว เรือนหลังนี้เดิมเป็นของพญาวงศ์ อยู่ที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2440 ลูกหลานพญาวงศ์ได้สืบทอดบ้านหลังนี้มาราว 3 รุ่น ต่อมาได้ย้ายไปปลูกไว้ในวัดสุวรรณเจดีย์ จังหวัดลำพูน

C360_2013-10-25-16-10-58-227

C360_2013-10-25-16-09-03-103

เรือนชาวเวียงเชียงใหม่ (พญาปงลังกา) เรือนไม้ขนาดกลาง ลักษณะเป็นเรือนหลังคาทรงจั่ว สองจั่วเหลื่อมกัน เรือนสองหลังร่วมพื้น ด้านตะวันตกเป็นเรือนนอนโล่งกว้าง ด้านตะวันออกเป็นเรือนครัว ระหว่างชายคาของเรือนทั้งสองเชื่อมต่อกันเป็นรางน้ำฝนเรียกว่า "ฮ่องลิน" หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา (ดินขอ) ใต้ถุนสูง ใช้เป็นที่นั่งทำงานและเป็นที่พักผ่อนเรือนพญาปงลังกาเดิมตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2439

C360_2013-10-25-16-20-02-680

เรือนทรงปั้นหยา (อนุสารสุนทร) เรือนไม้ขนาดใหญ่สองชั้น หลังคาทรงปั้นหยาเหลื่อมซ้อนกันอย่างลงตัว ผสมผสานกับหลังคาทรงจั่ว เป็นมุขยื่นออกมาด้านหน้าของตัวเรือน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา (ดินขอ) ชั้นบนของตัวเรือน มีระเบียงทางเดินอยู่ด้านหน้าห้องโถงใหญ่ จนถึงด้านหลังบ้าน และภายในห้องโถงมีบันไดลงสู่ชั้นล่าง หลวงอนุสารสุนทร และนางคำเที่ยง ชุติมา ได้สร้างบ้านหลังนี้ให้บุตรชาย คือนายแพทย์ยงค์ ชุติมา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2467 เดิมตั้งอยู่บริเวณตลาดอนุสารสุนทร

ยุ้งข้าวหรือหลองข้าว เป็นองค์ประกอบสำคัญที่อยู่คู่กับเรือนของชาวล้านนา ใช้เก็บข้าวเปลือกไว้กินได้ตลอดปี มีลักษณะเฉพาะเป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง มีระเบียงโดยรอบ หลังคาลาดต่ำคลุมระเบียงและมีจั่ว ยุ้งข้าวหลังนี้เป็นยุ้งข้าวของเรือนพญาวงศ์ นำมาปลูกสร้างใหม่ พร้อมกับตัวเรือนกาแล

C360_2013-10-25-16-03-36-210

C360_2013-10-25-16-06-44-978

C360_2013-10-25-16-20-24-353

ใครจะมาชมเรือนโบราณสมัยเก่า มากันทุกวันครับ ตั้งแต่เวลา 08.30 -16.30 น. ถ้าเป็น เสาร์ – อาทิตย์  09.00 -16.30 น. ถือซะว่ามาเปลี่ยนบรรยากาศในการชมพิพิธภัณฑ์อีกหนึ่งรูปแบบ ซึ่งนอกจากการชมบ้านเรือนสมัยเก่าแล้ว วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมก็มีให้ชมกันด้วยจากคนเฒ่าคนแก่ที่นี้ ที่สำคัญบรรยากาศในนี้ยังเย็นสบายไปด้วยต้นใหญ่ใบหญ้า

และถ้าที่นี้จะอนุรักษ์ต้นไม้ไปด้วย ผมว่ามันก็เข้าท่าดีนะ