
ไม่ได้มีญาติฝ่ายไหนเกี่ยวข้องกับชาวม้ง แต่อยากเขียนถึง…
เหตุเพราะไปเที่ยวบ้านม้งดอยปุย ได้ 2-3 ครั้ง มีโอกาสได้เห็นวิถีชีวิตของคนที่นั้น (แบบฉาบฉวย) สำหรับผมแม้ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดมาก (เพราะผมเองก็เด็กบ้านนอกคนนึง) แต่การได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรม ถือเป็นเรื่องที่ดีกว่าการนอนเขย่าหำเล่นที่ห้อง
ส่วนคนในเมือง อันนี้อาจจะกรี๊ดกร๊าด ตื่นเต้นมากขึ้นหน่อย ด้วยความที่ชีวิตนี้เจอแต่ตึกรามบ้านช่องสูงเสียดฟ้า และรถราคับคั่งพอๆ กับมลพิษทางอากาศ
“ดูนั้นซิ มีชุดม้งให้เช่าใส่ถ่ายรูปเล่นด้วย”
เสียงแววมาจากทางด้านหลังผม บ่งบอกว่าพวกเขาแลดูตื่นเต้นขนาดไหน กับการได้สวมใส่ชุดม้ง เพื่อถ่ายรูปแล้วอัพลงโซเชี่ยล เน็ตเวิร์ค
ชนชาติม้ง ยังไม่มีผู้ใดสามารถสรุปได้ว่ามาจากที่ไหน แต่สันนิษฐานกันว่าม้งคงจะอพยพมาจากที่ราบสูงธิเบต ไซบีเรีย และมองโกเลีย เข้าสู่ประเทศจีน ก่อนตั้งหลักแหล่งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว และอาศัยอยู่ในประเทศจีนมาหลายศตวรรษ
“ม้ง” ถูกราชวงค์แมนจู มีนโยบายสั่งปราบปรามจนพ่ายแพ้ต่อศึกสงคราม และทำการเริ่มอพยพถอยร่นสู่ทางใต้ และกระจายเป็นกลุ่มย่อย ๆ กลับขึ้นอยู่บนที่สูงป่าเขาในแคว้นสิบสองจุไทย สิบสองปันนา และอีกกลุ่มได้อพยพไปตามทิศตะวันออกเฉียงเหนือของราชอาณาจักรลาว ส่วนประเทศไทย ม้งอพยพมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2400 เศษ เป็นต้นมา
ปัจจุบันชาวม้งส่วนใหญ่ในประเทศไทย ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามภูเขาสูง หรือที่ราบเชิงเขาในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง กำแพงเพชร เลย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และตาก ส่วนใครถ้ามาเที่ยวเชียงใหม่ ก็เชิญจัดไปที่บ้านม้งดอยปุยเลย เพราะมันใกล้ที่สุด แถมระหว่างเส้นทาง ยังมีที่เที่ยวให้แวะหลายแห่ง
และเมื่อหากทำการจำแนกเป็นปฏิทินพร้อมทั้งโปรแกรมการท่องเที่ยว สำหรับบ้านม้งดอยปุย รูปร่างหน้าตาก็คงพอจะจัดออกมาได้เป็นลักษณะดังนี้
มกราคม – มีนาคม เที่ยวชมสวนดอกไม้เมืองหนาวและปีใหม่ของชุมชน, เมษายน – มิถุนายน ชมไม้หัตถกรรมพื้นบ้านตามฤดูกาล, กรกฎาคม – กันยายน หัตถกรรมการเขียนเทียนบนผืนผ้า ย้อมสีผ้า และตุลาคม – ธันวาคม ชมกิจกรรมและพิธีกรรมตามความเชื่อของชุมชน เช่น การตั้งชื่อ การแก้บน การสะเดาะเคราะห์
ส่วนบริการด้านการท่องเที่ยวของชุมชนอื่นๆ ก็จะมีที่พักแบบลานกางเต็นท์ บ้านพัก และอาหารท้องถิ่น (ชาวม้ง)
สำหรับผมเท่าที่ไปมา 2-3 ครั้ง การซึมซับวัฒนธรรมของคนที่นั้นยังมีไม่มากพอ เท่าที่จำได้ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับลุงแก่ๆ คนนึงที่ทำหน้าไม้ไว้ขาย และให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองยิงเล่น 3 ดอก ในราคา 20 บาท
คุณสมบัติของหน้าไม้ วัสดุที่ใช้ทำ คือสิ่งที่ลุงคนนั้นอธิบายให้ผมฟัง
นอกจากนี้ การเข้าไปทำความรู้จักกับเด็กม้ง โดยถอดความเป็นผู้ใหญ่ออกไปจากตัวเรา ก็ถือเป็นเรื่องสนุกไม่น้อย
พูดคุยไปเถอะครับ ถามพวกเขาว่ามีชีวิตเป็นอย่างไรอยู่บนนี้ ไปโรงเรียนยังไง มีเพื่อนกี่คน คุณครูกี่คน โรงเรียนอยู่ตรงไหน ทำไมชอบมากระโดดเล่นน้ำตรงนี้ ลูกข่างไม้ใครทำให้ ภาษาม้งคำนี้พูดว่าอะไร นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเยอะรึเปล่า ในเมืองกับบนดอยต่างกันขนาดนั้น ฯลฯ
ที่เหลือเมื่อเด็กเห็นเราถอดความเป็นผู้ใหญ่ทิ้งไป พวกเขาก็จะค่อยๆ กล้าทำความรู้จัก คุยกับเรามากขึ้น
“พี่ภาษาอังกฤษคำนี้ พูดว่าอะไร” เด็กม้งคนนึงถามผมกลับ หลังจากที่ผมถามชื่อเล่นตัวเองจากเขาในเวอร์ชั่นม้ง
ผมใช้เวลา 5 วินาที ตอบกลับคำถามพวกเค้า ก่อนจะส่งต่อด้วยอีกหนึ่งประโยค
“See you again next time”
ไว้เจอกันใหม่คราวหน้านะไอ้หนู ประโยคนี้เอาไว้พูดเวลาฝรั่งจะกลับจากการมาเที่ยวบ้านม้ง
และนั่นคือประโยคสุดท้ายที่ผมฝากถึงพวกเขา…