เสียงนักท่องเที่ยวจีนดังเจี๊ยวจ๊าวบนรถนำทัวร์ของทางเวียงกุมกาม จับใจความได้ พวกเขาน่าจะตื่นเต้นกับภาพที่เห็นอยู่เบื้องหน้า
ร่องรอยของสิ่งก่อสร้างที่ถูกพัดผ่านข้ามกาลเวลา เหลือทิ้งแต่ซากปรักหักพังทิ้งไว้ให้นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ได้ค้นหา ไหนจะวิหาร เจดีย์ ก้อนอิฐเก่าทั้งหลาย ทุกอย่างล้วนแต่มีคำตอบอยู่ในตัวของมัน
เคยมีนักเขียนคนนึงบอกเอาไว้ว่าสิ่งของทุกอย่าง ล้วนแล้วแต่มีประวัติศาสตร์ในตัวของมัน ซึ่งประวัติศาสตร์จะสมบูรณ์ มันต้องมีทั้งดีและร้ายปะปนกัน
แน่นอนโลกมีสองด้านเสมอ จะ ดำ – ขาว จะ ดี – เลว ทุกอย่างล้วนหนีไม่พ้น
มีเกิดก็มีดับ ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า แม้ขนาดที่ว่าแน่ๆ มันก็ยังไม่แน่นอน ของพวกนี้จะพูดไปมันก็เหมือนสัจธรรมชีวิต
ไม่มีอะไรจีรังยังยืน
เวียงกุมกาม อดีตเมืองเก่าอันรุ่งเรืองที่ถูกน้ำท่วมจมกลืนหาย ซึ่งบัดนี้หลายส่วนถูกขุดค้นพบมานานได้จะเกือบ 30 ปีเข้าให้แล้ว บางส่วนขุดเสร็จไป แต่บางส่วนก็ยังคงไม่เสร็จ เจ้าหน้าที่ยังคงต้องขุดค้นกันต่อเพื่อหาร่องรอยซากปรักหักพังเอาไว้ศึกษาค้นคว้า แก่ลูกหลาน หรือบุคคลที่สนใจในเรื่องราวประวัติศาสตร์ดังกล่าว
ในป่า ที่ลุ่มน้ำ หรือในบริเวณพื้นที่อาศัยของชาวบ้าน หลายๆ ส่วนมักแฝงตัวอยู่แบบนั้น
วัดกู่ป้าด้อม อีกหนึ่งวัดที่ถูกขุดค้นจากบริเวณพื้นที่ของชาวบ้าน ซึ่งวัดแห่งนี้ปรากฏร่องรอยการฉาบผิวนอกของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ด้วยปูนขาวมากที่สุดในบรรดาวัดร้างของเวียงกุมกาม และยังพบหลักฐานการก่อกำแพงแก้วของวัดที่สมบูรณ์ที่สุด โดยบริเวณดังกล่าว อยู่ต่ำกว่าระดับผิวดินปัจจุบันประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณโดยรอบก็ถูกห้อมล้อมไปด้วยบ้านเรือนผู้คน
จากการสันนิษฐาน วัดกู่ป้าด้อม น่าจะก่อสร้างขึ้นในระยะที่พญามังรายประทับอยู่ที่เวียงกุมกาม ระหว่างปี พ.ศ. 1835 – 1839 โดยวัดกู่ป้าด้อม ( กู่เป็นภาษาถิ่น หมายถึง เจดีย์ ) ไม่ปรากฏประวัติความเป็นมาในเอกสารและตำนานทางประวัติศาสตร์ แต่ชื่อวัดเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกัน เนื่องจากอยู่ในเขตที่ดินของป้าด้อม ด้านในบริเวณวัดประกอบด้วย เจดีย์ ประธาน วิหาร และแท่นบาชูจำนวน 2 แท่น ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงแก้ว ซึ่งปัจจุบันได้รับการบูรณะแล้ว อีกทั้งบางส่วนในนั้น ยังถูกน้ำท่วมขัง พอประมาณ (ท่วมแน่ล่ะครับ ก็ที่ต่ำขนาดนั้น)
จากการสำรวจด้วยสายตาคร่าวๆ วัดแห่งนี้มีพื้นที่ขนาดใหญ่พอตัว ซึ่งหากใครสนใจ อยากมาสำรวจดูแบบผม วัดกู่ป้าด้อม จะตั้งอยู่ในเขตบ้านท่าวังตาล ตำบลท่าวังตาล อยู่นอกเขตเวียงกุมกาม ติดกับแนวคูเมือง – กำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ถ้าเดินทางมาตามถนนทางแยกเข้าเวียงกุมกามวัดเจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ) ตรงมายาวๆ ตามป้ายก็เป็นอันเจอแล้วครับ
สุดท้าย ขอให้สนุกกับการเที่ยว อ่อ อยากลืม เป็นไปได้ไม่ต้องนั่งรถนำทัวร์นะครับ ไม่สนุก นั่งรถส่วนตัวมาดีที่สุดแล้ว