ในบางตำบลของ อ.สันกำแพง จะเห็นได้ว่ามีผู้คนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ อย่างชาวไทยเขิน ชาวยอง เป็นต้น ซึ่งแต่ละชุมชนก็จะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป
ณ บ้านดอนปีน ต.แช่ช้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ หนึ่งในหมู่บ้านชาวยองที่มีความรักสงบ รักประเพณีมาแต่โบราณ และมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งในสมัยก่อนเมื่อถึงวันพระก็ต้องเดินไปทำบุญที่วัดบ่อค่าง โดยในช่วงหน้าฝนจะลำบากมากในการเดินทาง ต้องไต่ตามคันนา หน้าฝนก็ลื่น เพราะสมัยนั้นถนนยังไม่มี เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่ชื่อว่า หนานปัญญา หนานติคะ หนานพล้อย หนานวงศ์ นับว่าเป็นคนที่มีผู้คนในสมัยนั้นให้ความเคารพนับถือในหมู่บ้าน ได้ปรึกษาหาลือกันว่าควรสร้างวัดวาอารามเป็นที่ทำบุญอันเป็นที่พึ่งทางใจ เพื่อสืบต่อศาสนา เพราะทุกคนในหมู่บ้านทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ
เมื่อปี พ.ศ. 2404 จึงเริ่มแผ้วถางปรับพื้นที่ให้ราบ ถึง พ.ศ. 2405 ก็พร้อมใจกันสร้างเป็นวัด เพราะระหว่างบ้านบ่อค่าง บ้านแม่แต บ้านป่าไผ่ บริเวณแวดล้อมนี้มีวัดห่าง (วัดร้าง) หลายแห่งหลายที่ ทางตะวันตกเฉียงใต้มีวัดห่างชาวบ้านเรียกว่า วัดกู่ขี้เหล็ก ทางตะวันตกเฉียงเหนือเป็น วัดห่างกู่แดง และทางทิศใต้ ได้แก่ วัดห่างแม่แต เมื่อผู้นำในหมู่บ้านพิจารณาดูแล้วเห็นว่า วัดห่างกู่แดง สมควรเป็นวัดก็พากันแผ้วถาง ในบริเวณนั้นมีต้นไม้มะปีน (ต้นมะตูม) อยู่บนก้อนอิฐมากมายต้นใหญ่อยู่บนวัดร้าง เมื่อสร้างกุฏิวิหาร แต่ก่อนมุงด้วยต๋องตึง (ใบจากต้นตึง) ชาวบ้านเรียกว่าวิหาร โฮม (วิหารชั่วคราว) พอสร้างเสร็จแล้วก็ได้ไปปรึกษากับครูบาพรหมจาติ (พรหมชาติ) หรือชาวบ้านบางคนเรียกว่า ตุ๊เจ้าพรหม เจ้าอาวาสวัดบ่อค่าง (วัดบวกค้าง) ขณะนั้นครูบาพรหมก็สั่งให้ พระเตปีน เทวธัมโม มีอายุขณะนั้นได้ 28 พรรษา มาอยู่เป็นผู้ดูแลวัดบ้านไฮ่ และสามเณร 1 รูป คือ สามเณรปินทะ และมีเด็กเข้ามาร่ำเรียนในวัดอีกหลายคน เพราะสมัยก่อนวัดถือว่าเป็นต้นแบบของโรงเรียน
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2425 วัดบ้านไฮ่ ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดดอนปีน พระเตปีนเจ้าอาวาสมีอายุมากขึ้น และมีบารมีพอสมควรนับว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถสั่งสอนคนไปทั่วได้ มีศรัทธาของวัดมากเห็นว่า คำบ้านไฮ่ ไม่สมควรเป็นชื่อวัด ผู้เฒ่าผู้แก่จึงคิดถึงสมัยสร้างวัดใหม่ๆ ที่มีต้นมะปีน (มะตูม) อยู่บนที่สร้างวัดต้นขนาดใหญ่โต อยู่ที่สูง ภาษายองเรียกที่สูงว่า ดอน มาบวกกับชื่อต้นไม้ และชื่อเจ้าอาวาสจึงเป็นชื่อฤกษ์ว่า ดอนปีน จากวัดบ้านไฮ่ มาเป็นวัดดอนปีน และในหมู่บ้านจึงเปลี่ยนชื่อตามวัดว่า หมู่บ้านดอนปีน เมื่อพ.ศ.2425 เป็นต้นมา
ในส่วนของศาสนสถานในวัด มีเจดีย์รูปแบบล้านนา วิหาร อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย และหอไตร ภายในวัด