รู้จัก “มะเกว๋น” กันมั้ยครับ? (ให้เวลานึก 1 นาที)
…………………………………………………………….
“มะเกว๋น” ไม้ยืนต้นสูงใหญ่ ลำต้นมีหนามเล็กน้อย ผลของมันตอนดิบจะมีสีเขียว ส่วนเวลาสุกจะเป็นสีแดงม่วง โดยผลสุกของมัน สามารถกินได้ รสชาติจะฝาดๆ มีหวานปนมา ถ้าผมจำไม่ผิด ตอนเด็กๆ เคยกินไป 2 – 3 ครั้ง ช่วงนั้นเพื่อนมันพากิน รสชาติถือว่าอร่อยดีเลยล่ะ
เหตุที่ต้องเกริ่นกันมาแบบนี้ เนื่องจากมันมีเรื่องที่ต้องเกี่ยวโยงกันกับ “วัดต้นเกว๋น” ใน ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เพราะว่าสมัยก่อนรอบๆ วัดมีป่าต้นมะเกว๋นขึ้น ชาวบ้านแถวนี้เลยพากันเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดต้นเกว๋น” ก่อนต่อมาจะเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอินทราวาส” ซึ่งตั้งตามชื่อเจ้าอาวาส คือครูบาอินทร์ ผู้สร้างวัดนี้
“วัดต้นเกว๋น” เป็นวัดเก่าแก่ที่ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2399 ถึง ปี พ.ศ. 2412 สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เป็นเจ้าหลวงปกครองเมืองเชียงใหม่ ความสำคัญของวัดแห่งนี้ในอดีต เป็นที่พักขบวนพระบรมธาตุศรีจอมทอง จาก อ.จอมทอง มาที่เชียงใหม่ โดยเมื่อเดินทางมาถึงวัดต้นเกว๋น ก็จะให้ประชาชนแถวนี้สรงน้ำพระธาตุศรีจอมทอง หลังจากนั้นก็อัญเชิญไปที่วัดสวนดอก 3 วัน 7 วัน แล้วก็ขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นประจำทุกปี
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดแห่งนี้ มีวิหารวัดต้นเกว๋น ที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณ ที่มีความงดงามจนได้รับการนำไปเป็นต้นแบบของหอคำหลวงในงานพืชสวนโลก หน้าบันวิหารประดับตกแต่งด้วยกระจกแก้วสีแบบฝาตาผ้าหรือฝาปะกน โก่งคิ้วจำหลักไม้ลายเครือเถาสอดสลับรูปเศียรนาค มีลายปูนปั้นรูปเทพนมและดอกไม้อยู่หัวเสา ด้านหน้าบันปีกนกแกะสลักเป็นเศียรนาคในลายเครือเถาผสมกนก ตีเป็นช่องตารางเพื่อระบายอากาศ ปั้นลมและหางหงส์แกะรูปมกรคายนาคอย่างงดงาม คันทวยหูช้างจำหลักไม้เป็นรูปกินนรฟ้อนรำ
ภายในวิหารมีพระประธานประดิษฐานอยู่บนชุกชีเป็นลายรูปปั้นดอกกูด ฝาหนังด้านหลังพระประธานเป็นซุ้มและมีพระพิมพ์โลหะติดฝาผนัง ซึ่งหล่อเป็นองค์ๆ เอาติดฝาผนังเป็นรูปคล้ายซุ้ม พระพิมพ์มี 2 แบบคือ แบบใบโพธิ์ปางมารวิชัยขนาด 2×4 ซม. และแบบนาคปรก ขนาด 3×5 ซม. แล้วยังมีภาพจิตกรรมฝาผนังที่วาดด้วยสีน้ำซึ่งหลงเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และด้านนอกวิหารยังมีศาลารายในเขตพุทธาวาส
ส่วนอีกที่เป็น มณฑปจัตุรมุข เป็นมณฑปจัตุรมุขแบบพื้นเมืองล้านนาซึ่งพบเพียงหลังเดียวเท่านั้นในภาคเหนือ ลักษณะเป็นศาลามีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ส่วนกลางของศาลามีจั่วซ้อนอยู่สองชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาที่เรียกว่ากระเบื้องดินขอ ส่วนช่อฟ้าของหลังคามีความพิเศษตรงที่ช่างโบราณจะออกแบบให้มีความโค้งงอซึ่งนกสามารถมาเกาะได้ และที่กลางสันหลังคามีซุ้มมณฑปเล็กๆ ซึ่งทางภาคเหนือเรียกว่า ปราสาทเฟื้อง ลักษณะเดียวกับที่พบในภาคอีสานและลาว
นอกจากนี้ยังมีอาสนะสำหรับตั้งโกศพระบรมธาตุซึ่งยังอยู่ในสภาพดี มีฮางฮดหรือรางรินสำหรับรองน้ำสุคนธาราหรือน้ำอบน้ำหอมที่นำมาหยดหล่อพระธาตุ มีเสลี่ยงสำหรับหามบั้งไฟจุดบูชาที่แกะสลักลวดลายดอกสวยงาม และรูปนาคลงรักชาดปิดทอง แต่ปัจจุบันทรุดโทรมไปแล้ว และมีกลองโยน (กลองบูชา) โบราณเรียกว่า “ก๋องปูจา”
ถือได้ว่า “วัดต้นเกว๋น” เป็นวัดที่มีความสวยงามในด้านสถาปัตยกรรมล้านนา ที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง ใครมีโอกาสมาเที่ยวเชียงใหม่ ใกล้ๆ กับ ไนท์ซาฟารี และ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ลองเพิ่ม “วัดต้นเกว๋น” ลงไปในโปรแกรมการท่องเที่ยว ก็ดูเฟี้ยวดีไม่หยอกครับ