วัดท่ากาน

DSCF1332

ก่อนที่จะไปสำรวจความยิ่งใหญ่ในเชิงประวัติศาสตร์ของเวียงท่ากาน อยากจะขอพาท่านผู้อ่านแวะมาเที่ยววัดท่ากาน ที่อยู่ติดๆ กับ เวียงท่ากานก่อนครับ

การเดินทางไม่มีอะไรยุ่งยาก จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้ถนนเส้น เชียงใหม่ – ฮอด มายัง อ.สันป่าตองพอเลยตัวอำเภอมาหน่อยนึง ก็เลี้ยวซ้ายเข้าบ้านทุ่งเสี้ยวซัก 2 กิโลเมตร ก็เป็นอันถึง (เส้นเดียวกันกับที่จะมาเวียงท่ากานนั่นแหละ)

DSCF1337

วัดท่ากาน ตั้งอยู่หมู่ 5 ท่ากาน ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.1225 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 1525 ภายในวัดมีอาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กฏิสงฆ์ วิหาร หอสรงน้ำพระ ปูชนียวัตถุมี เจดีย์ พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน พระพุทธรูปไม้ พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปทองเหลืองและโถลายคราม

DSCF1332

เริ่มกันที่พระวิหาร วิหารรูปแบบล้านนา เป็นวิหารปิด ที่มีการสร้างผนังด้านข้างทั้งสี่ด้าน มีหน้าต่าง และช่องแสงโดยรอบทุกด้าน บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง หรือฉลุลายปิดทองบริเวณผนังด้านหลังของพระประธาน ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการยกเก็จของผัง ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสามชั้น ด้านหลังสองชั้น สัมพันธ์กับการยกเก็จของผัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด (หลังคาแผ่นไม้) ภายในพระวิหารมีจิตรกรรมลวดลายเกี่ยวกับพุทธศาสนา

DSCF1333

ส่วนเจดีย์ของวัดท่ากาน เป็นเจดีย์แบบล้านนา ที่รับเอาอิทธิพลแบบอย่างจากวัฒนธรรมอื่นๆเช่น สุโขทัย พุกาม มาผสมผสานกันพัฒนาจนเป็นรูปทรงใหม่ที่ลงตัวและใช้กันแพร่หลาย พระเจดีย์แบบล้านนานี้เป็นเจดีย์ทรงกลมเป็นฐานสูงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ เน้นชั้นมาลัยเถาที่ขยายใหญ่ขึ้น ยกสูงขึ้น องค์ระฆังถูกลดความสำคัญลงจนเหลือขนาดเล็ก มีบัวรัดรอบองค์ระฆังตามแบบพุกาม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม

DSCF1335

หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยเชียงแสน หล่อด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์ มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร  ชายสังฆาฏิหยักเป็นเขี้ยวตะขาบสั้นเหนือพระอุระ เกตุบัวตูม ประทับนั่งบนฐานดอกบัวบานหงายรองรับ

DSCF1336

นอกจากนี้ ภายในวัดท่ากาน ยังศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนเวียงท่ากาน ก่อตั้งโดย อส.มศ.กลุ่มเวียงท่ากานเมื่อปี 2551 เพื่อเป็นแหล่ง เก็บรวบรวมข้อมูลเวียงท่ากาน เก็บโบราณวัตถุ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม สำหรับให้เยาวชนประชาชน และนักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษา ใครสนใจอยากมาไว้พระทำบุญก็เชิญกันครับ ทำบุญเสร็จแล้วเดินไปหาของกินตลาดข้างๆ วัด แล้วไปเลยเถิดเดินเที่ยวเวียงท่ากาน กันต่อ อันนี้ก็สามารถทำกันได้แบบสบายๆ