ตั้งแต่ในอดีตจวบจนปัจจุบัน โรงเรียนกับวัด คือสถานที่สองแห่งที่แทบจะไม่เคยแยกออกจากกัน
ที่ต้องกล่าวเช่นนั้น ก็เพราะวัดหลายแห่งในเชียงใหม่ที่ไปมา ล้วนแต่มีลักษณะดังกล่าว คือถ้าไม่อยู่ติดกัน ก็แทบจะอยู่ในพื้นทีเดียวกันเลย
และวัดท่าสะต๋อยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น….
ด้านหน้าปากทางเข้าขวามือเป็นโรงเรียน ซึ่งพอได้ย่างก้าวเข้าไปด้านใน ก็จะเห็นว่าอาณาเขตบริเวณแถวนั้นมันแทบจะผนวกเข้ากันเป็นอย่างเดียว
ส่วนนั้นจะมีองค์เจดีย์ โบสถ์ พระเจ้าทันใจ และ อีกฝากตรงข้ามจะเป็นพระวิหารอยู่ในระหว่างการบูรณะ คาดว่าถ้าแล้วเสร็จคงจะสวยงามน่าดู
ส่วนประวัติความเป็นมาวัดจาก “แผ่นโลหะจารึก” ที่อยู่หน้าพระวิหารด้านทิศตะวันออกเบื้องซ้ายของพระวิหาร อ่านได้ใจความว่า เดิมทีชื่อบ้าน “สะต๋อย” ปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนก ว่าด้วยเชียงใหม่สะสมพลเมือง และ หนังสือเจ้าหลวงเชียงใหม่ ว่าด้วย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” โดยจะกล่าวถึงพระกรณียกิจ ของพระเจ้ากาวิละ เจ้าหลวงองค์ที่ 1 (พ.ศ.2324 – 2358) ความว่า
“ในช่วงเวลานั้น แผ่นดินล้านนาโดยเฉพาะเชียงใหม่ร่วงโรยอย่างยิ่ง บ้านเรืองไร่นาถูกทิ้งร้าง หมู่บ้านกลายเป็นป่า เมืองกลายเป็นดง จะไปทางใต้ก็กลัวเสือ จะไปทางเหนือก็กลัวช้าง บ้านเมืองขาดเสถียรภาพ เพราะไม่มีเจ้านายเป็นหลักแห่งแผ่นดิน คงมีแต่ขุนเล็กๆน้อยๆที่ดูแลท้องถิ่นตน
โดยเหตุนี้ พระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) จึงทรงให้พระยามังวชิรปราการกำแพงแก้ว (พระเจ้ากาวิละ) ไปฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นยุคที่ต่อมาเรียกว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” จึงไปชักชวน หรือ ตีบ้านเล็กเมืองน้อยต่างๆเพื่อนำเอาประชากรมาสะสมรอไว้ใน “เวียงป่าซาง” รวมกันหลายครั้ง เช่นในปี จ.ศ.1145 (พ.ศ. 2332) ก็ได้ชาวบ้าน “สะต๋อย” บ้าน “วังลุ” บ้าน “วังกวาด” มารวมไว้อีกด้วย
แม้จะเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองเชียงใหม่แล้วก็ตาม กิจกรรมการรวบรวมพลเมืองก็ยังดำเนินต่อไป ดังในจุลศักราช 1160 (พ.ศ.2341) ก็ได้ประชากรจาก เมืองปุ เมืองสาด เมืองแจดท่าอ้อ เมืองถึง และ เมืองกุน มารวมอยู่ในเมืองเชียงใหม่ และ ในปีรุ่งขึ้นก็ได้ให้กองทัพไปตีเอาประชากรจาก บ้านวัวลาย “สะต๋อย” ส้อยไร ท่าช้าง บ้านนา และ ทุ่งอ้อ มาไว้ในเชียงใหม่อีกเช่นกัน
ส่วนบรรดาผู้ที่อพยพมาโดยถูกกวาดต้อนจากถิ่นต่างๆ ก็ตั้งชื่อหมู่บ้านของตนตามชื่อบ้านเมืองเดิมที่ตนถูกกวาดต้อนลงมา เช่น “บ้านเมืองมาง” ซึ่งมีชาวบ้านเดิมเป็นชาวไทลื้อ และได้อพยพลงมาจาก “เมืองมาง” ในรัฐสิบสองปันนา นอกจากนี้ ยังมีหมู่บ้าน “เมืองสาด” “เมืองกาย” “เมืองเลน” “เมืองวะ” “เมืองขอน” “เมืองลวง” “เมืองหลวย” “เมืองยอง” “พยาก” “เชียงขาง” เหล่านี้เป็นต้น เป็นหมู่บ้านที่รายรอบเมืองเชียงใหม่และลำพูน
ถึงแม้ว่าประชากรดั้งเดิมในหมู่บ้านเหล่านั้น เป็นไทลื้อ ไทเขิน ไทยอง และ ไทใหญ่ ในปัจจุบันนี้ก็ได้กลับกลายเป็นไทยวน โดยเรียกตนเองว่า “คนเมือง” ไปจนหมดสิ้นแล้ว
คำว่า “ท่าสะต๋อย” จึงเป็นชื่อเรียกขานของ “บ้านสะต๋อย” (ศรีสร้อยทรายมูล) และชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนรายรอบบริเวณวัดท่าสะต๋อยในปัจจุบัน…