วัดธาตุขาว

C360_2013-11-06-16-51-47-477

วัดธาตุขาว เป็นหนึ่งในวัดในเวียงกุมกามที่ผมจำขึ้นใจ เพราะความโดดเด่นของพระประธานที่ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ให้อารมณ์แลดูขลัง และข้อสำคัญอีกอย่างที่จำได้ เนื่องจากวัดอื่นๆ ที่เหลือมันไม่มีครับ (ยกเว้นวัดเจดีย์เหลี่ยม และวัดช้างค้ำนะ)

ที่ต้องกล่าวเช่นนั้น ก็วัดที่เหลือๆ อยู่ล้วนแต่เป็นลักษณะของเนินดินซะมากกว่า แถมยังแลดูซ้ำๆ กันอีกด้วย คือถ้าไปซัก 4 – 5 วัดติดๆ กันก็เป็นอันเริ่มสับสนแล้วว่าที่ไหนคืออะไร แล้ววัดเมื่อกี้มันชื่ออะไร

ฉะนั้น วัดธาตุขาวก็เลยจำได้ง่ายกว่าชาวบ้านหน่อย

C360_2013-11-06-16-48-56-037

วัดธาตุขาว พิกัดวัดตั้งอยู่ทางทิศใต้วัดเจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ) ในเส้นทางผ่าทางเข้าวัดพญามังราย-พระเจ้าองค์ดำมาทางใต้ ในเขตพื้นที่ทางด้านตะวันตกของเวียงกุมกามและวัดปู่เปี้ย (ร้าง) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สภาพปัจจุบันเป็นวัดร้าง และขึ้นบัญชีเป็นวัดของกรมศาสนา สภาพแวดล้อมทั่วไปแวดล้อมด้วยสวนลำไยของเอกชน มีถนนบุญรักษ์สายใหม่ตัดผ่านด้านหน้าวัด

C360_2013-11-06-16-49-43-900

วัดสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก จากหลักฐานด้านเอกสารไม่ปรากฏการกล่าวอ้างอิงถึงถึงประวัติของวัดนี้ว่าการก่อสร้างขึ้นเมื่อใด แต่เข้าใจว่าสภาพความเป็นวัดคงเกิดขึ้นแล้วในสมัยเวียงกุมกาม และดำรงอยู่ร่วมสมัยล้านนาเรื่อยมา

C360_2013-11-06-16-55-30-792

สาเหตุที่เรียกกันว่า วัดธาตุขาว ก็เนื่องมาจากแต่เดิมเจดีย์ยังคงปรากฏผิวฉาบปูนสีขาว (ธาตุ หรือ กู่ เป็นคำเรียกขานในท้องถิ่นล้านนา หมายถึง เจดีย์) ภายในวัดมีโบราณสถานประกอบด้วยวิหาร เจดีย์ อุโบสถ และมณฑป โดยมีการก่อสร้างขึ้นมา ๒ ระยะคือ ระยะแรกก่อสร้างเพียงเจดีย์ วิหาร อุโบสถ แต่ต่อมาเกิดการชำรุดจึงต่อเติมฐานเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งระยะที่สองมีการก่อสร้างมณฑปสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป

C360_2013-11-06-16-54-26-606

ลักษณะวิหาร วัดธาตุขาว สภาพคงเหลือหลักฐานเพียงส่วนฐานก่ออิฐสอดิน จากลักษณะเดิมเมื่อพิจารณาจากตำแหน่งและร่องรอยโครงสร้างเสา เป็นวิหารที่มีหลังคาทรงหน้าจั่วเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา และเนื่องจากการขุดแต่งไม่พบหลักฐานการก่อเรียงอิฐในส่วนผนัง ทำให้เข้าใจว่าเป็นวิหารแบบโถงองค์พระประธานพังทลายไม่เหลือหลักฐานแล้ว

C360_2013-11-06-16-53-16-159

ส่วนอีกที่เป็นฐานพระเจดีย์ วัดธาตุขาว สร้างก่ออิฐสอดินฉาบผิวด้วยปูนขาว จากรูปแบบสภาพปัจจุบันที่คงเหลือเฉพาะส่วนฐานเขียงเตี้ยตอนล่าง และชั้นปัทม์ย่อเก็จ ๒ ฐานซ้อนกัน พิจารณาว่าน่าจะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง

C360_2013-11-06-16-52-46-377

ปิดท้ายด้วยสิ่งที่น่าสนใจ เป็นพระประธานที่แต่ก่อนหลงเหลืออยู่เป็นบ้างส่วน ต่อมาชาวบ้านเลยช่วยกันสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้น ซึ่งนำบ้างส่วนที่เหลือมาประกอบเข้ากัน จนได้สภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบันนั้นแหละครับ

และจากการเที่ยวเวียงกุมกามครั้งนี้ วัดธาตุขาวเป็น 1 ใน 5 วัดที่ผมจำขึ้นใจ เพราะความโดนเด่นในพระประธานที่ประดิษฐานตั้งตระหง่านอยู่กลางวัดครับ