วัดนันทาราม

C360_2013-10-09-17-00-41-692

วัดนันทาราม 1 ใน 8 แห่งพระอารามหลวง ที่เจริญรุ่งเรืองและมีความสำคัญ โดยชาวเชียงใหม่มีความเชื่อว่าเป็นที่ไว้เกศาธาตุ 8 แห่งของพระพุทธองค์

วัดนันทาราม สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นหลังจากนครเชียงใหม่สร้างขึ้นมาแล้ว และคงจะสร้างขึ้นก่อนการสร้างกำแพงเวียงชั้นนอก วัดนันทารามแต่เดิมเรียกว่า “บ้านเขิน” ในเขตตำบลหายยา มีกำแพงสองชั้นล้อมรอบเขตวัด ชั้นในเรียกว่า เขตพุทธาวาส หรือ “ข่วงแก้วทั้งสาม” ซึ่ง มีองค์พระเจดีย์  พระวิหาร  อุโบสถ ศาลาบำเพ็ญบุญ หอไตร ตั้งอยู่บริเวณด้านใน ส่วนชั้นนอกนั้นเดิมเรียกว่า เขตสังฆาวาส อันมีกุฏิสำหรับพระภิกษุอยู่ คือ กุฏิเหนือและกุฏิใต้ ปัจจุบันกุฏิเหนือได้ร้างไปแล้ว ส่วนกุฏิใต้นั้นก็ได้ย้ายมาตั้งทางด้านทิศตะวันออกของกุฏิเดิมอีกประมาณ 10 เมตร เรียกว่า “กุฏิต่ำ” หรือภาษาเมืองล้านนาเรียกว่า “โฮงต่ำ”

C360_2013-10-09-17-16-14-258

ภายในวัดแห่งนี้ มีศาสนสถานหลายอย่างที่สำคัญ ซึ่งก็ประกอบไปด้วย พระบรมธาตุเจ้าเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ โดยปี พ.ศ.2062 พระเจ้าปนัดดาธิราชฯ ทรงให้สร้างพระเจดีย์องค์ สูง 30 ศอก กว้าง 20 ศอกครึ่งครอบพระเจดีย์องค์เดิมซึ่งสูงเพียง 3 ศอก และพระองค์ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากพระภิกษุชาวลังกาไว้ที่บนคอระฆัง จากนั้นในปี พ.ศ.2504 ได้ทำการยกฉัตร ปิดทองใหม่พระธาตุ และหล่อฉัตรจัตุรมุข ทั้ง 4 ด้าน ก่อนปี พ.ศ. 2527 จะหุ้มแผ่นทองเหลืองรอบองค์พระเจดีย์พร้อมทั้งลงรักปิดทอง และสร้างรั้วเหล็กรอบองค์พระเจดีย์ มีรางเหล็กไว้เพื่อจุดเทียนรอบองค์พระเจดีย์ ส่วนการบูรณะพระเจดีย์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542

C360_2013-10-09-17-04-10-288

อนึ่ง เมื่อถึงกำหนดวันเดือนเป็ง เดือน 6 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ ทางวัดจะจัดให้มีงานประเพณีสรงน้ำพระ และองค์พระเจดีย์ขึ้นเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องกันมาแต่โบราณ ตราบจนทุกวันนี้

C360_2013-10-09-17-01-22-954

พระเพชรหรือหลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัดนันทาราม มีอายุ 500 กว่าปี มีขนาดหน้าตักกว้าง 25 นิ้วครึ่ง  สูง 45 นิ้ว หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขัดเงา โดยพุทธลักษณะของพระเพชรจัดอยู่ในชุด  พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 1 คือ  มีพุทธลักษณะอวบอ้วน ขัดสมาธิเพชร พระพักตร์ป้อมสั้น อ่อนโยน รัศมีรูปดอกบัวตูม นิ้วพระหัตถ์ยาวเรียว ถือเป็นศิลปกรรมแบบลังกาวงศ์ หรือสิงห์ 1

พระพุทธไสยาสน์โบราณองค์ใหญ่ หรือพระนอน ยังไม่พบหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด และใครเป็นผู้สร้าง แต่มีความสวยงามยิ่งนัก โดยจะหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ทอดพระเนตรไปหาองค์พระเจดีย์ มีวิหารครอบอย่างถาวร

C360_2013-10-09-17-00-41-692

พระวิหาร เป็นรูปแบบศิลปกรรมแบบล้านนาไทยโดยแท้ สร้างขึ้นแล้วบูรณะซ่อมแซมสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2405 ในสมัยพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ โดยทำการปั้นรูปพระยาครุฑ บิดแขวนโอบรอบอกพระยานาค 2 ตัว ข้างบันไดซ้าย-ขวา อันเป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศ เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ของพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ ถือเป็นศิลปกรรมอันงดงามที่ไม่ซ้ำกับแบบวัดอื่นๆ ในเมืองเชียงใหม่

พระอุโบสถ มีลักษณะทรงล้านนา โดยในปี พ.ศ. 2511พระอธิการอิ่นแก้ว ได้ทำการรื้ออุโบสถหลังเดิม และทำการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยไว้รูปทรงแบบเดิม ก่อนจะทำการทำบุญฉลองเมื่อวันจันทร์ที่ 16-22 มีนาคม พ.ศ.2513 หลังจากนั้น เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันได้ทำการปฏิสังขรณ์ในส่วนที่ชำรุด และปรับภูมิทัศน์บริเวณรอบพระอุโบสถ และได้ทำการถวายไว้ในพระพุทธศาสนาในปี พ.ศ.2549

C360_2013-10-09-17-05-21-198

หอธรรม หรือ หอไตรปิฎก หลังเดิมนั้นสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระธรรมกิตติ อดีตเจ้าอาวาสวัดนันทาราม ต่อมาปี พ.ศ. 2514 พระอธิการอิ่นแก้ว ได้สร้างศาลาบาตรรวมหอธรรมหรือหอไตร ออกแบบถาวร รูปแบบศิลปกรรมแบบผสม แล้วได้ทำบุญฉลองสมโภช ส่วนหอธรรมหลังใหม่ ซึ่งได้สร้างแทนหอธรรมหลังเดิมนั้น ตั้งอยู่บริเวณหลังพระวิหารทางด้านทิศเหนือ ในลักษณะทรงล้านนาประยุกต์ สีขาว มีลักษณะเด่นสวยงาม โดยสร้างแล้วเสร็จถวายไว้เมื่อปี พ.ศ.2547

ซุ้มประตูโขง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2536 ลักษณะเป็นการอนุรักษ์ประตูโขงของเดิมได้

C360_2013-10-09-17-14-35-797

รูปปั้นพระญาณคัมภีระ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2521 โดยพระอธิการอิ่นแก้ว ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระญาณคัมภีระ ที่ทรงมีบทบาทอันสำคัญยิ่งต่อวงการคณะสงฆ์ของล้านนาไทย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ด้านข้างของอุโบสถ วัดนันทาราม

สุดท้ายเป็น บ่อน้ำโบราณ มีมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระธรรมกิตติ และเคยใช้น้ำในบ่อน้ำแห่งนี้สรงพระธาตุ ในงานสรงน้ำพระธาตุประจำปี เป็นประจำทุกปี