วัดปราสาท อีกหนึ่งวัดเก่าแก่ของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม สร้างด้วยฝีมือเชิงช่างชั้นสูง พิกัดวัดหาได้ง่ายๆ ครับ ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับวัดพระสิงห์
ตามประวัติของวัดปราสาทนั้นบอกไว้ว่า ในอดีตตั้งอยู่ในเขตเจ้านายและขุนนาง ซึ่งอยู่ในเขตกำแพงเมือง ซึ่งปัจจุบันนี้ก็คือบริเวณในคูเมือง โดยตามหลักศิลาจารึกของวัดตะโปธารามนั้นได้กล่าวไว้ว่า วัดปราสาทเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรือง เมื่อ พ.ศ. 2035 สมัยพญายอดเชียงราย และด้วยอาณาเขตบริเวณวัดนั้น ตั้งอยู่ในเขตเจ้านายและขุนนาง วัดแห่งนี้จึงได้รับการบูรณะสืบต่อกันมาตลอด และในสมัยพม่าปกครองเมืองเชียงใหม่ ก็ได้มีการหล่อพระเจ้าหมื่นทองพระพุทธรูปทองสำริด เมื่อ พ.ศ. 2133
จากนั้นในสมัย เจ้าหลวงธรรมลังกา เมื่อปี พ.ศ. 2366 ได้มีการบูรณะบูรณะวัดปราสาท โดยโปรดฯ ให้ พระยาหลวงสามล้าน สร้างพระวิหารขึ้น ซึ่งเป็นพระวิหารที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการบูรณะวัดทั้งหมดนั้น ยังคงลักษณะศิลปะของล้านนาเอาไว้อย่างครบถ้วน
ส่วนศาสนสถานและปูชนียวัตุภายในวัดปราสาท ประกอบด้วยวิหารทรงปราสาท เป็นพระวิหารทรงล้านนายุคเก่า ที่ท้ายพระวิหารมีเป็นกู่มณฑปทรงปราสาทเชื่อมต่อกัน เป็นรูปแบบเก่าของการสร้างพระอุโบสถและพระวิหารซึ่งหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในปัจจุบันที่ ซึ่งหาชมได้ยากเหมือนอย่างเช่น พระอุโบสถ วัดพระสิงห์ หน้าบันพระวิหารประดับด้วยกระจกสีลวดลายที่วิจิตร บ่งบอกถึงฝีมือเชิงช่างชั้นสูง
ผนังภายในพระวิหารประดับลายคำเรื่องราวพุทธประวัติ ท้ายพระวิหารมีซุ้มโขงที่ต่อเชื่อมเข้าสู่กู่มณฑปทรงปราสาท ด้านบนประดับด้วยแผงพระพิมพ์ ซึ่งได้สูญหายไปเกือบทั้งสิ้น ภายในกู่มณฑปทรงปราสาท ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย เป็นประธาน
นอกจากโครงสร้างของตัววิหารแล้ว สิ่งที่น่าชมที่สุดก็คือ สิ่งละอันพันละน้อยที่ประดับตัววิหาร ตั้งแต่ช่อฟ้าซึ่งอยู่เหนือจั่วของวิหาร มีทั้งที่เป็นไม้แกะหรือปูนปั้นเป็นรูปพญานาค หางหงส์ หรือตัวเหงามักทำเป็นรูปมกรคายนาค นาคทัณฑ์ หรือ คันทวยซึ่งเป็นไม้ค้ำยัน และจะมีการแกะสลักเป็นรูปต่างๆ มากมาย เช่น มกรคายนาค นกหัสดีลิงค์ หงส์ประดับพรรณพฤกษา เทวดา เป็นต้น เรียกว่าแกะกันไม้ซ้ำลายเลยทีเดียว โดยเฉพาะบริเวณหน้าบัน หรือที่ท้องถิ่นเรียกกันว่า หน้าแหนบ นั้นจะมีการตกแต่งที่สวยงามเป็นพิเศษ
สำหรับท่านใดจะมาเที่ยววัดปราสาท ขอแนะนำเลยว่าการชมวิหารของล้านนาให้สนุก จะต้องเป็นคนช่างสังเกตกันซักนิดนึงครับ พยายามอย่ามองข้ามรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ถึงแม้ว่ารูปทรงวิหารจะเหมือนๆ กัน แต่การประดับประดาจะแตกต่างกัน ซึ่งตรงนี้มันแสดงถึงฝีมือช่างที่ได้ทุ่มเทความสามารถ สร้างลวดลายให้เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ฝากเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชมความงามสืบต่อไป