วัดป่าชี หรือวัดป่าจี้ หนึ่งในวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญของตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งในด้านสถาปัตยกรรมที่สวยงาม และฐานะส่วนรวมกับการสืบสานประเพณีท้องถิ่น แต่จะเป็นประเพณีเรื่องอะไรนั้น ไปทำความรู้จักกับวัดคร่าวๆ กันก่อน
วัดป่าจี้ ถูกสร้างเมื่อ พ.ศ.2125 ก่อนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2532 มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ยังที่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันได้มีการบูรณะแล้ว แต่ยังคงสถาปัตยกรรมเดิมอยู่ สถาปัตยกรรมเดิมที่พูดถึงก็คือในเรื่องของลายไทยที่ประดับตามผนังโบสถ์ วิหาร ปละพญานาค สถานที่ต่างๆ ภายในวัดรวมไปถึงศาลาหรือ ระเบียงคต ทั้งนี้อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอไตรวิหาร เจดีย์ และกุฏิสงฆ์
ถ้าให้โฟกัสถึงความสวยงาม และความโดดเด่นแล้ว ก็จะเริ่มกันที่ปากทางเข้าวัดที่เป็นซุ้มประตูลวดลายสวยงาม สีเหลืองทองอร่ามจากการถูกส่องแสงตัดกับท้องฟ้า ส่วนถัดเข้ามาหน่อย เป็นลวดลายหน้าบันของวิหาร ที่เป็นไม้แกะสลักอย่างสวยงาม
ส่วนด้านหลังของวัดจะเป็นองค์เจดีย์ที่ติดอยู่กับอุโบสถ โดยรอบๆ องค์เจดีย์จะมีเจดีย์ขนาดเล็ก 4 องค์ล้อมรอบ และที่น่าจดจำได้ขึ้นใจ เป็นรูปสลักตรงรั้วของเจดีย์ที่เป็นรูปของปีนักษัตรทั้ง 12 ซึ่งก็ไล่ไปตั้งแต่ ปีชวด ฉลูขาล เถาะ มะโรง มะเส็งมะเมีย มะแม วอก ระกา จอ กุน ทั้งนี้ ตรงด้านเจดีย์ประดิษฐานพระเจ้าทันใจให้ได้กราบไว้สักการะ
ในส่วนของประเพณีที่ได้เกริ่นเอาไว้ตังแต่ตอนแรกนั้น วัดป่าจี้ ถูกใช้ประกอบพิธีการงานประเพณีเลี้ยงดง ซึ่งประเพณีนี้ถือว่ามีความสำคัญกับคนในชุมชนที่เป็นอย่างมาก และน่าจะมีให้เห็นที่เดียวในโลก
ประเพณีดังกล่าว เป็นประเพณีโบราณที่เซ่นสรวงดวงวิญญาณผีในป่า ซึ่งดวงวิญญาณเป็นผู้ปกปักษ์รักษาป่า โดยในประเพณีเลี้ยงดง จะมีการนำควายรุ่นเขาพังหูสีดำ จำนวน 1 ตัว เป็นเครื่องเซ่นให้ดวงวิญญาณผีปู่แสะ-ย่าแสะ จากนั้นดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ที่ดูแลปกป้องคุ้มครองป่าต้นน้ำ ก็จะมารับเครื่องเซ่นผ่านร่างทรงโดยมากินเนื้อควายดิบๆ ซึ่งถ้าใครที่ไม่เคยรู้จักประเพณีนี้มาก่อน ก็อาจจะมองว่าเป็นประเพณีที่ปาเถื่อนโหดร้าย เนื่องจากภาพตามสื่อต่างๆ ที่เสนอไปนั้น ค่อนข้างจะสลดสยองพอสมควร
กลับมาที่ความสำคัญของวัดป่าจี้ สาเหตุที่ไปเกี่ยวข้องกับประเพณีเลี้ยงดงนี้ เพราะว่าในช่วงทำพิธี จะมีการแห่พระบท เป็นภาพของพระพุทธเจ้าขนาดใหญ่ออกมาจากวัด ก่อนมุ่งหน้ามายังสถานที่ประกอบพิธี
ทั้งนี้ ประเพณีดังกล่าวจะมีการจัดขึ้นปีละครั้ง ประมาณเดือนมิถุนายน โดยในทุกๆ ปี ประเพณีเลี้ยงดงได้รับความสนใจจากคนไทย และคนต่างชาติเป็นจำนวนมาก