หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากวัดอุโมงค์แล้ว ก็มีวัดป่าแดงมหาวิหารอีกแห่งนะครับ ที่เหมาะแก่การมาเยี่ยมชม แถมบรรยากาศภายในวัดยังร่มรื่นไม่แพ้วัดอุโมงค์กันอีกต่างหาก
จากปากซอย 4 (บ้านใหม่หลังมอ) ถนนสุเทพ ตัวอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตรงเข้ามาเป็นที่ตั้งของวัดป่าแดงมหาวิหารวัดแห่งนี้สถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1974 โดยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งราย เพื่อเป็นที่พำนักของพระมหาญาณคัมภีร์และคณะซึ่งเดินทางกลับจากการศึกษาพระพุทธศาสนาจากประเทศศรีลังกา ในขณะเดียวกันพระมหาญาณคัมภีร์ได้อัญเชิญพระไตรปิฎกพระพุทธรูป และต้นโพธิ์มาปลูกในวัดแห่งนี้
วัดป่าแดงมหาวิหาร เป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาฝ่ายสิงหลในล้านนาไทย โดยพระเจ้าติโลกราชทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก และทรงผนวชชั่วคราว ณ อารามแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.1990 มีพระมหาญาณมงคล เป็นพระราชอุปัชฌาย์ มีพระอตุลสกัตยาธกรณะ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพอสิ้นราชวงศ์เม็งราย เชียงใหม่อยู่ใต้การปกครองของพม่ากว่า 200 ปี ทำให้วัดป่าแดงมหาวิหารถูกทอดทิ้งจนชำรุดทรุดโทรม ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ได้มีการสร้างที่พักสงฆ์ขึ้นและมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษามาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญในวัดป่าแดงมหาวิหาร ก็มีกันดังต่อไปนี้
เจดีย์ (ในวัด) เจดีย์องค์นี้ เป็นศิลปะแบบพม่า สร้างในสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นบรรจุพระอัฐิของพระเจ้าสามฝั่งแกน และพระเทวีซึ่งเป็นพระราชบิดาและพระราชมารดาของพระเจ้าติโลกราช ทางกรมศิลปากร กระทรงวัฒนธรรมได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว ส่วนที่ดินอยู่ในการดูแลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต่อมา พ.ศ.2543 มีการอนุรักษ์กำแพงแก้ว โดนคุณสุวิช ชมชื่น นักโบราณคดี 8 ได้งบประมาณจากกรมศิลปากร กระทรงวัฒนธรรม สันนิษฐานว่า ภายในองค์เจดีย์ คงจะได้บรรจุอัฐิของเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งก็เป็นได้
พระพุทธมณีศรีอุดม เป็นพระพุทธรูปก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นพระประธานองค์เดิม ประดิษฐานอยู่ในซุ้มโขงเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง เมื่อ พ.ศ.2543 พระศอร้าว ช่างกรมศิลปากรมาทำการบูรณะและปิดทอง ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
พระพุทธสิริมงคลชัย เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบญี่ปุ่น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2520 โดยพระธุดงค์รูปหนึ่ง ได้รับการบริจาคทรัพย์จากผู้มีจิตศรัทธาก่อสร้างได้แล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ.2524 มีการสมโภชพร้อมกับการฉลองอุโบสถที่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมเช่นเดียวกัน ก่อนต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2543 นายชัย บูรพการกุล พร้อมลูกหลานได้บริจาคทรัพย์ เพื่อทาสีองค์พระทำสีรั้วรอบๆ และมีการทำสวนหย่อมรอบต้นโพธิ์ ซึ่งพระมหาญาณคัมภีร์ นำมาจากประเทศศรีลังกา เพื่ออุทิศกุศลให้นางเหว่งฮุย แซ่เหลียง และนางไช้จู แซ่ตั้ง
พระพุทธพิชิตชัยอดิสัยป่าแดงมิ่งมงคล พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์นี้ มีขนาดหน้าตักกว่า 55 นิ้ว สูง 72 นิ้ว จำลองมาจาก พระเจ้าเก้าตื้อจากพระอุโบสถวัดสวนดอก (พระอารามหลวง) จ.เชียงใหม่ หล่อเมื่อปี พ.ศ.2525 และได้ทำพิธีพุทธาภิเษก เมื่อ พ.ศ.2528 คุณรงค์ ภูอิทธิวงค์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพในการหล่อและการอบรมสมโภช โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศน์วิหาร ได้ประทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธพิชิตชัยอดิสัยป่าแดงมิ่งมงคล” ซึ่งประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
พระพุทธสิริธัมมจักกวัตติติโลกราช เป็นพระพุทธรูปแบบทรงเครื่อง ขนาดหน้าตักกว้าง 20 นิ้ว สูง 34 นิ้ว หล่อขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระเจ้าติโลกราช ผู้สถาปนาวัดป่าแดงมหาวิหาร
พระบรมสารีริกธาตุ ประทานโดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสัมฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เพื่อบรรจุในยอดเกตุโมลีพระพุทธพิชิตชัยอดิสัยป่าแดงมิ่งมงคล และพระพุทธสิริธัมมจักกวัตติติโลกราช เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2550 และอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดป่าแดงมหาวิหาร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2550
สมเด็จพระโลกนาถศาสดาบรมบพิตรสถิตรัตตะวัน พระพุทธรูปองค์นี้ มีขนาดหน้าตักกว้าง 72 นิ้ว สูง 69 นิ้ว ได้รับเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิสุนทร เจ้าอาวาสวัดอมรคีรี กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ สร้างถวาย ได้นำมาประดิษฐานเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2544 โดยมีนายสิทธิพันธ์ ศรีวงค์พรหม เป็นเจ้าภาพฐานชุกชีและปิดทอง
จากนั้นวันที่ 19 กันยายน 2545 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กรรมการมหาเถรสมาคม วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครและคณะได้โปรดเมตตาเยี่ยมวัดป่าแดงมหาวิหาร ได้ประทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “สมเด็จพระโลกนาถศาสดาบรมบพิตรสถิตรัตตวัน” ถือว่าเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งแก่วัดป่าแดงมหาวิหาร และศรัทธาประชาชนตำบลสุเทพ จะได้บูชาพระศาสดาที่เป็นผู้ทรงเป็นที่พึ่งของโลก ในวโรกาสที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา ประดิษฐาน ณ วัดป่าแดงมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่
พระอุโบสถ พระอุโบสถหลังนี้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1995 โดยพระเจ้าติโลกราช โปรดให้สร้างไว้ตรงที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบิดา และพระราชมารดาซึ่งสมัยนั้นมีการอุปสมบทพระภิกษุเป็นครั้งแรก และได้มีการอุปสมบทในอุโบสถแห่งนี้
ในสมัยพระเมืองแก้ว ได้ทรงบูรณะและสร้างถาวรวัตถุรวมถึงพระอุโบสถหลังนี้ด้วย ต่อมาพระอุโบสถได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จวบจนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนในปี พ.ศ.2513 ได้มีการบูรณะพระอุโบสถ ทำซุ้มโขงอัญเชิญพระพุทธรูปปางสุโขทัยมาประดิษฐานในซุ้มโขง ต่อมาได้ทำบุญฉลอง ระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2524 และในอนาคตอันใกล้นี้ ทางวัดมีโครงการจะบูรณะวิหาร ปรับภูมิทัศน์และทำกำแพงล้อมรอบอุโบสถ เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบและทำให้มีคุณค่ายิ่ง
ซุ้มประตูโขง-ธรรมาสน์ ในวิหาร มีธรรมาสน์ 1 หลัง และการซ่อมแซมซุ้มประตูโขง นายเด่น นางม้วน ซึ่งเป็นชาวไทยใหญ่ อยู่บ้านตำหนัก ใกล้สนามบินเชียงใหม่ ท่านทั้งสองเป็นบิดา-มารดาของพระอธิการอิ่นแก้ว อริน.โท (ครูบาอ่อง) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าแดงมหาวิหารเป็นเจ้าภาพสร้างขึ้น (เรื่องดังกล่าวนี้ นายประจวบ สมประเสริฐ ตั้งบ้านเรือนอยู่หมู่ที่ 1 บริเวณวัดฝายหิน) เล่าให้ฟังว่าเมื่อ พ.ศ.2482 หลังสงครามโลก ขณะนั้นบรรพชาเป็นสามเณรอยู่วัดป่าแดงมหาวิหาร พ่อและแม่ของท่านครูบาอ่องมีจิตรศรัทธาบริจาคทรัพย์บูรณะซุ้มประตูโขงที่ปรากฏอยู่ ไว้ประดิษฐานพระพุทธมณีศรีอุดมและได้สร้างธรรมาสน์ 1 หลัง ถวายวัด ปัจจุบันยังปรากฏอยู่ในวิหารของวัดป่าแดงมหาวิหาร
บันไดนาคขึ้นสู่วัดป่าแดงมหาวิหาร เดิมมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เมตร ความยาวประมาณ 8 เมตร สร้างสมัยพระอธิการอิ่นแก้ว (ครูบาอ่อง) เป็นเจ้าอาวาส ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ.2535 ได้มีการบูรณะในสัมยพระครูฤทธิเดชฐานวโรเป็นเจ้าอาวาส ดังมีปรากฏอยู่ทุกวันนี้ บันไดนาคมีความกว้างด้านหัวนาค 6.80 เมตร ปลายหางนาค 2.40 เมตร มีความยาวตั้งแต่หัวนาคถึงหางนาค 48.35 เมตร บันไดนาคนี้มีจำนวน 96 ขั้น
นับได้ว่าวัดแห่งนี้มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เยอะเอาการ และที่สำคัญไม่แพ้กัน บรรยากาศภายในวัด อากาศร่มรื่นสุดๆ ไปเลยครับ