วัดป้านปิง

C360_2013-09-22-15-40-34-203

วัดป้านปิง 1 ใน 2 วัดของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีลักษณะแปลกกว่าวัดอื่น ตรงที่การก่อสร้างวิหารและพระธาตุนั้น จะก่อสร้างกันบนเนินดินสูงถึง 3 เมตร ซึ่งอีกหนึ่งวัดที่มีลักษณะคล้ายกัน จะเป็นวัดธาตุคำ ในตำบลหายยา

C360_2013-09-22-15-48-20-997

ตามที่มาของชื่อวัดนั้น คำว่า “ป้าน” เป็นภาษาล้านนาโบราณครับ แปลว่า “ขวาง” ซึ่งพอถอดความหมายแปลกันโดยรวม ก็คือแนวขวางแม่น้ำปิง   และเพื่อให้เข้าใจกันง่ายขึ้น สรุปรวมๆก็คือ ภยันอันตรายจากอีกฟากฝั่งของแม่น้ำปิง จะไม่สามารถข้ามมาได้ โดยในอดีตภัยสงครามที่จะมาเชียงใหม่ก็มีไปตั้งแต่ กองทัพจากมองโกล ในสมัยพ่อขุนเม็งราย, กองทัพจากพม่า และกองทัพจากอยุธยา เป็นต้น

C360_2013-09-22-15-45-49-606

วัดป้านปิง สร้างเมื่อ พ.ศ.2025 คำนวณอายุโดยไม่ต้องกดเครื่องคิดเลข ก็ปาไป 500 กว่าปีครับ  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2115 โดยในวัดแห่งนี้ ก็จะประกอบด้วยศาสนสถานสำคัญ กันหลายอย่าง ดังต่อไปนี้

C360_2013-09-22-15-44-38-617

พระเจดีย์แห่งวัดป้านปิง เป็นเจดีย์แบบฐานสูงย่อมุมไม้ 28 ทรง 12 เหลี่ยม เป็นเจดีย์คู่วัดมาตั้งแต่ต้น มีฐานกว้าง 10.20 เมตร สูงประมาณ 25 เมตร มีทรงแบบล้านนาฝีมือช่างหลวง

C360_2013-09-22-15-43-34-933

พระวิหาร สร้างในปี พ.ศ.2024 เป็นสถาปัตยกรรมล้านนา มีความสวยงามมาก เป็นที่ทำบุญของศรัทธาสาธุชนทั่วไป เดิมทีพระวิหารเดิมเกิดไฟไหม้ พระวิหารหลังนี้ จึงเป็นพระวิหารหลังใหม่ที่สร้างขึ้นภายหลัง โดยซุ้มประตูโขงพระวิหาร วัดป้านปิง จะมีรูปปั้นลักษณะจีนปูนตำสูตรล้านนา เป็นรูปพญานาคสองตัวหางพันกัน เหนือขนดลำตัวสองฟากเป็นยอดเขาหิมพานต์ พร้อมพระอาทิตย์ พระจันทร์ แสดงถึงขอบของจักรวาล ขากรอบประตูมีบัวควำบัวหงายปก ซุ้มประตูโขงนี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาชั้นเลิศในการปั้นประตูโขง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างหลวง เช่นเดียวกับซุ้มประตูโขงพระอุโบสถของวัดพระสิงห์อย่างแน่นอน เพราะเป็นวัดที่มีการสร้างขึ้นในยุคของพระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกาเหมือนกัน

C360_2013-09-22-15-40-34-203

ด้านในพระวิหาร ประดิษฐานพระเพชรสิงห์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ทั้งสององค์ เป็นศิลปะแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง องค์พระประธานหน้าตักกว้าง 1.70 เมตร องค์รองด้านขวาหน้าตักกว้าง 1.30 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่มีความงามเป็นเลิศทั่วทั้งเมืองล้านนาก็ว่าได้ (ไม่มีภาพมาฝาก เพราะทางวัดปิดประตูพระวิหาร)

C360_2013-09-22-15-41-22-787

ถัดมาด้านหน้าขึ้นมาจากพระวิหาร จะเป็นพระอุโบสถ มีหลักศิลาจารึกที่มีลักษณะใบเสมา ทำจากหินทรายสีเทาขนาดกว้าง 42 ซม. หนา 15 ซม. สูงประมาณ 75 ซม. เดิมทีไม่ทราบว่าตั้งอยู่ที่ใด ปัจจุบันทางวัดนำมาตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของพระอุโบสถ จารึกด้วยภาษาล้านนาโบราณแต่จารึกไม่จบความ และใกล้ๆกันตรงด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นสถูปบรรจุอัฐิหลวงพ่อพระครูสังฆกิจวิรุฬห์ (สิงห์คำ ธมฺมทินฺโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดป้านปิง และ อดีตเจ้าคณะตำบลศรีภูมิเขต 2

C360_2013-09-22-15-47-20-647

สุดท้ายและท้ายสุด เป็นหอไตร แห่งวัดป้านปิง ที่ไม่มีประวัติแน่ชัดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยใด แต่พอมีประวัติว่า ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งสุดท้ายในสมัย พระครูสังฆกิจวิรุฬห์ อดีตเจ้าอาวาสวัดป้านปิงในช่วง พ.ศ.2470-2536

ใครยังไม่เคยแวะไปเยี่ยมชมวัดแห่งนี้ ก็ลองหาโอกาสไปซักครั้งดู เพราะสถาปัตยกรรมหลายๆ นับว่าสวยงามกันเลยทีเดียวครับ