วัดพระธาตุดอยคำ

C360_2014-01-20-16-17-45-784

หลายเดือนก่อนมีสหายแวะมาเยี่ยมมันสะกิดในเชิง “ตูอยากไปวัดพระธาตุดอยคำ”

น่าแปลกใจ ไอ้เพื่อนผมคนนี้มันเพิ่งเคยมาเชียงใหม่ครั้งแรก แทนที่มันจะอยากไปวัดพระธาตุดอยสุเทพ หรือวัดอื่นๆ อย่างวัดเจดีย์หลวง วัดพระสิงห์ มันกลับดันอยากมาวัดพระธาตุดอยคำแทน

เหตุแห่งความอยากมาของมัน น่าจะเป็นภาพจากอินเตอร์เน็ต ที่เห็นวิวทิวทัศน์บนวัดอันสวยงาม และอาจจะรวมถึงศาสนสถานต่างๆ ในวัดด้วย

4 วัน 3 คืน ของเพื่อนผมในเชียงใหม่ เป็นอันว่าผมไม่ได้พามันไป เพราะมั่วแต่พากันไปเตร็ดเตร่ที่อื่น ยิ่งวันแรกจะพาไปกะไว้ซะอย่างดิบดี สุดท้ายเวลาไม่พอ ได้แค่ไปเฉียดๆ ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์

“เดือนกุมภาปีหน้า ถ้ามีโอกาสกูจะมาเชียงใหม่อีก”

มันทิ้งทวนกับผมประโยคนี้ตอนขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพฯ และแน่นอนสิ่งที่ยังค้างคาผมในใจ คือยังไม่ได้พามันไป ซึ่งก็คงต้องรอให้มันมาเชียงใหม่กันอีกรอบ

“วันนี้เดี๋ยวกูไปเที่ยววัดพระธาตุดอยคำ เดี๋ยวส่งภาพให้มึงดูทางไลน์”

เป็นคำพูดของผมที่บอกเพื่อนเมื่อหลายวันก่อน หลังจากวางแผนมาแล้วว่าจะแวะไปเที่ยวที่นั้นในเร็วๆ วันนี้

C360_2014-01-20-16-23-54-030

จากเส้นทางที่มายัง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ และ เชียงใหม่ ไนท์ซาฟารี ตรงวงเวียนจะมีป้ายบอกทางมายังวัดพระธาตุดอยคำ จากจุดดังกล่าวขับมาเรื่อยๆ ตามป้ายไม่น่าจะเกิน 3 กิโลเมตร

C360_2014-01-20-16-05-46-427

วัดพระธาตุดอยคำ ตามประวัติบอกเล่าว่าสร้างในสมัยพระนางจามเทวีกษัตริย์แห่งหริภุญชัย โดยพระโอรสทั้ง 2 เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ. 1230 ประกอบด้วยเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ศาลาการเปรียญกุฏิสงฆ์ และพระพุทธรูปปูนปั้น เดิมชื่อวัดสุวรรณบรรพต แต่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดดอยคำ”

C360_2014-01-20-16-06-53-673

ต่อมา พ.ศ. 2509 ขณะนั้นวัดดอยคำเป็นวัดร้าง ต่อมากรุแตกชาวบ้านจึงพบโบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น พระรอดหลวง พระหินทรายปิดทององค์ใหญ่ พระสามหมอ (เนื้อดิน) ก่อนจะนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดพระธาตุดอยคำ ซึ่งนอกจากวัดแห่งนี้จะเป็นที่สักการะบูชาของคนท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์อีกแห่งหนึ่งของการบินไทยที่ใช้กำหนดพื้นที่ทางสายตา ก่อนที่จะนำเครื่องบินลงจอดที่สนามบินเชียงใหม่

C360_2014-01-20-16-11-12-421

C360_2014-01-20-16-06-20-932

C360_2014-01-20-16-10-15-303

มีตำนานเล่าว่า “พระธาตุดอยคำ” เคยเป็นที่อยู่อาศัยของยักษ์สองผัวเมีย ชื่อ จิคำและตาเขียวมาก่อน ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้เรียกยักษ์ทั้งสองนี้ว่า “ปู่แสะ – ย่าแสะ” ปู่แสะย่าแสะมีลูก 1 คน ชื่อว่า “สุเทวฤๅษี” เหตุที่ได้ชื่อว่าดอยคำ เนื่องจากศุภนิมิตที่ยักษ์ทั้งสองได้รับพระเกศาธาตุจากพระพุทธเจ้า เกิดฝนตกหนักหลายวัน ทำให้น้ำฝนเซาะและพัดพาแร่ทองคำบนไหล่เขา และลำห้วยไหลลงสู่ปากถ้ำเป็นจำนวนมาก จึงเรียกภูเขาลูกนี้ว่า “ดอยคำ”

C360_2014-01-20-16-12-44-378

จากตำนานหลายฉบับได้กล่าวว่า เทวดาได้นำพระเกศาธาตุที่พระพุทธเจ้าได้ประทานแก่ปู่แสะและย่าแสะ นำขึ้นมาฝังและก่อสถูปไว้บนดอยแห่งนี้ และต่อมาในปี พ.ศ. 1230 เจ้ามหันตยศ และเจ้าอนันตยศ 2 พระโอรสแฝดของพระนางจามเทวี แห่งหริภุญชัยนครได้ขึ้นมาก่อเจดีย์ครอบพระสถูปเกศานั้นไว้ ส่วนพระเจดีย์แห่งที่ 2 ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ทางทิศเหนือของดอยคำ คือ พระธาตุดอยสุเทพ

C360_2014-01-20-16-03-30-335

ส่วนสิ่งที่น่าสนใจในวัดแห่งนี้ก็มีกันหลากหลาย เช่น พระธาตุดอยคำ พระพุทธนพีสีพิงครัตน์ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ภายในวัด ช้างปู่ก๋ำ งาเขียว ช้างคู่บารมี องค์พระนางเจ้าจามเทวี ช้างปู๋ต่ำ งาดอก ช้างคู่บารมีของพระเจ้าอนันตยศ และมหันตยศ ศาลพระเจ้าแม่จามเทวี พระอุโบสถ วิหาร ฯลฯ

C360_2014-01-20-16-18-24-825

C360_2014-01-20-16-08-18-903

C360_2014-01-20-15-57-37-454

C360_2014-01-20-16-00-00-758

C360_2014-01-20-16-16-08-765

C360_2014-01-20-16-14-28-328

C360_2014-01-20-16-15-27-764

นอกจากศาสนสถานหลายๆ อย่างที่ได้เอ่ยไป วัดพระธาตุดอยคำ ยังมีจุดชมวิวที่มองเห็นเมืองเชียงใหม่กว้างสุดลุกหูลูกตา ถือได้ว่าใครมาเที่ยววัดแห่งนี้มีครบกันทุกรสชาติทั้งในด้านศิลปะ วัฒนธรรม และธรรมชาติจากวิวทิวทัศน์

ถึงตอนนี้ผมไม่แปลกใจแล้วว่าทำไมเพื่อนผมมันถึงได้อยากมา…