วัดพันตอง

C360_2013-10-09-16-31-10-935

ย่านถนนลอยเคราะห์ แม้ในยามค่ำคืนจะคับคั่งไปด้วยบรรดาร้านรวงต่างๆ ที่ให้บริการในรูปแบบของน้ำเมา สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่แถวนั้นในช่วงกลางวัน ก็ยังมีวัด 2-3 ที่ให้น่าสนใจเดินไปเที่ยวเล่น ในวันที่แสนจะเบื่อหน่าย

จากประตูท่าแพ ก่อนเลี้ยวขวาเข้ามาตามถนนลอยเคราะห์ ซักหน่อย ซ้ายมือมีวัดพันตองวางตัวอยู่ วัดนี้เป็นวัดเล็กๆ ที่วางตัวอยู่ในย่านชุมชน และใกล้ๆ กันนั้น ก็จะเป็นวัดลอยเคราะห์ที่เดินไปนิดเดียวก็เป็นอันถึง

วัดพันตอง จากการสันนิษฐาน ชื่อนี้คงเพี้ยนมาจากคำว่า “พันทอง” ตามน้ำหนักของทองพันชั่ง ซึ่งเป็นน้ำหนักของพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ชาวบ้านฮ่อมนำมาจากเชียงแสน โดยในสมัยก่อนชาวไทยเมืองที่อพยพมาจากเวียงเชียงแสนนั้น  ได้มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ที่บ้านฮ่อม หมู่ที่ 1 ตำบลช้างคลาน  อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับการก่อกำเนิดวัดอีก 4 วัด คือ  วัดพันตอง  วัดช้างฆ้อง  วัดเมืองเลนและวัดร้อยข้อ (ลอยเคราะห์)

C360_2013-10-09-16-28-14-788

C360_2013-10-09-16-29-03-093

เท้าความกลับไปในอดีต สมัยก่อนเมื่อพญากาวิละวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเขลางค์ ได้รับพระบรมราชโองการสถาปนาให้ดำรงตำแหน่ง พระเจ้ากาวิละวงศ์ฯ เจ้าผู้ครองนครพิงค์เชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2325 – 2356 นั้น  ครั้นพระองค์ยกทัพมาถึงตำบลป่าซาง  ก็ได้หยุดพักทัพไว้เป็นการชั่วคราว  ทั้งนี้พระองค์ดำริว่า เวียงพิงค์นครเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ แต่มีพลเมืองน้อยไม่พอที่จะใช้คุ้มครองรักษาพ้นจากอริราชศัตรูที่จะมารุกรานได้

จากนั้น ก่อนที่จะยกทัพเข้ามาประทับในเวียงพิงค์เชียงใหม่ พญากาวิละวงศ์ได้ขึ้นไปต้อนเอาชนชาติไทยทางเหนือ เช่น ไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยยอง ไทยเขิน แห่งแคว้นสิบสองปันนา และไทยเมืองแห่งเวียงเชียงแสน ฯลฯ  ให้เอาชนชาติไทยเหล่านี้ไปตั้งถิ่นฐานบ้านช่องอยู่ทั่วไปในบริเวณเวียงพิงค์เชียงใหม่ เช่น พวกไทยใหญ่ ไทยลื้อ อยู่ตำบลช้างเผือก ไทยเขินอยู่ตำบลหายยา ไทยยองอยู่ตำบลสันกำแพง  และไทยเมืองจากเวียงเชียงแสน ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลช้างคลาน และให้พวกชาวมอญที่ติดตามมาจากนครเขลางค์ ตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลช้างคลาน  ตำบลช้างม่อย การกระทำเช่นนี้เรียกว่า  “เก็บผักใส่ซ้า  เก็บข้าใส่เมือง”

C360_2013-10-09-16-31-56-468

C360_2013-10-09-16-32-50-995

ประชาชนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเวียงพิงค์เชียงใหม่ดังกล่าวมานี้ ต่างก็นำเอาวัฒนธรรมประเพณีของตนมาใช้ด้วย  เช่น  วัดวาอารามและอาหารการกิน เป็นต้น อาหารพวกไทยใหญ่มีจิ้นส้มเงี้ยวและหนังพอง พวกไทยเขินมีเครื่องเขิน  เครื่องเงิน พวกไทยยองมีการปลูกฝ้าย ทอผ้า พวกมอญมีขนมเส้น (ขนมจีน) ส่วนพวกไทยเมืองที่มาจากเมืองเชียงแสนนั้น  ส่วนมากเป็นศิลปินถนัดในการทำช่อดอกไม้และการแกะสลักต่างๆ  มีวัฒนธรรมเผ่าหลายอย่าง บางอย่างก็ยังมีชื่อเรียกมาจนถึงทุกวันนี้ และเรื่องสถาปัตยกรรมในสิ่งก่อสร้างในวัด ก็น่าจะได้รับอิทธิพลไปด้วย

C360_2013-10-09-16-30-40-141

สำหรับใคร หากมีโอกาสย่างเข้าไปในพระวิหารวัดพันตอง นอกจากจะมากราบไหว้ องค์พระประธานแล้ว ในพระวิหารก็ยังมีประติมากรรมหลายอย่างที่ตกแต่งอย่างสวยงาม แฝงปริศนาธรรมเอาไว้ให้ขบคิดเล่นๆ เช่น องค์พระปฏิมาประธาน ภาพฝาผนัง กลุ่มดอกบัวและดอกแก้วสีต่างๆ ที่ติดไว้บนเพดาน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้ามองดูเผินๆ แล้ว ก็จะเห็นว่าเป็นเพียงเครื่องประดับตกแต่งเพื่อความสะดวกสวยงามธรรมดาเท่านั้น แต่ถ้าใช้วิจารณญาณพิจารณาให้ละเอียด และลองสังเกตสักหน่อย ก็จะรู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างแฝงอยู่เบื้องหลังของสิ่งเหล่านี้

ชอบคิด ชอบสังเกต ชอบค้นคว้า ก็ลองตามหาศึกษาเอา ตามแต่สะดวกครับ ท่านทั้งหลาย…