ยังคงวนเวียนอยู่แถวเวียงกุมกามกันอยู่นะครับ ณ ตอนนี้เท่าที่นึกออก ก็แทบจะปาไปถึงครึ่งนึงของเวียงกุมกามกันแล้ว คาดว่าอีกในไม่ช้า คงจะตามเก็บวัดที่เหลือในนี้ให้ครบถ้วนกระบวนความ เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ เพราะไม่อย่างงั้นแล้ว อารมณ์ของผม คงไม่ต่างอะไรกันกับเวลากำลังกินข้าวอยู่ดีๆ แล้วดันมีคนมาเรียกใช้ จนกินข้าวไม่อิ่ม
แบบนี้แถวบ้านเรียกหงุดหงิดครับ แถมเหตุการณ์ทำนองนี้ ไอ้เพื่อนซี้ผมมันก็เจอเป็นประจำกันซะด้วย ซึ่งไอ้ผมก็ไม่เข้าใจว่า แม่ผู้บังเกิดเกล้ามันเป็นอะไรก็ไม่รู้ เวลาลูกชายจะกินข้าวทีไหร่ เป็นต้องใช้ตลอด จนผมเคยบ่นกับมันนะว่า เป็นกูโวยวายไปแล้ว มีอย่างที่ไหน ลูกกินข้าวแล้วดันมาใช้ เวลาอื่นว่างๆ ดันไม่เรียก เอิ่มมม นะ คุณแม่…
และเพื่อไม่เป็นการเสียเวลา หลังจากที่ผมเพิ่งนั่งกินปิ้งไก่หน้าวัดพันเลาไปหมาดๆ เรามาดูกันต่อว่าวัดพันเลามีอะไรน่าสนใจกันบ้าง
วัดพันเลา แต่เดิมเป็นวัดร้าง ซึ่งชื่อวัดเป็นชื่อดั้งเดิมที่ชุมชนเรียกสืบทอดต่อกันมา และคาดว่ามาจากคำนำหน้าว่า “พัน” อันน่าจะหมายถึง ยศทางทหาร หรือขุนนาง โดยที่เดิมของวัดนี้อาจเป็นวัดอุปถัมภ์ของนายทหารหรือขุนนางชื่อ “เลา”
ตัววัดพันเลาจะตั้งอยู่ริมถนนท่าวังตาล ตำบลหนองหอยครับ ซึ่งอยู่นอกเวียงกุมกามทางด้านทิศเหนือ สภาพโบราณสถานมีการก่ออิฐกระจายหลายแห่ง พบชิ้นส่วนของพระพุทธรูป และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นอะไร และยังคงคาดว่ามีอีกหลายวัดที่จมอยู่ใต้พื้นดิน และบ้านเรือนของชาวบ้านที่กำลังรอการบูรณะขึ้นมา
ส่วนอีกหนึ่งวัดที่แทบจะหลบมุมกันเข้าไปในซอกหลืบ แถมป้ายวัดยังโดนขโมยไปอีก (ไม่เข้าใจจะขโมยไปทำไม) คือ วัดกู่ริดไม้ที่ตั้งอยู่ในเขตบ้านช้างค้ำ ตำบลท่าวังตาล อยู่ทางทิศใต้ในเขตเวียงกุมกาม ห่างจากแนวคูเมือง-กำแพงเมืองประมาณ 150 เมตร ส่วนประวัติความเป็นมาไม่ปรากฏในเอกสารและตำนานทางประวัติศาสตร์ใดๆ สันนิษฐานว่าชื่อวัดน่าจะมาจากชื่อที่ชาวบ้านเรียกกัน เนื่องจากมีต้นเพกา (ต้นริดไม้) ขึ้นอยู่บนเนินวัด
วัดกู่ริดไม้มีวิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เจดีย์ตั้งอยู่ด้านหน้าวิหาร ซึ่งเป็นลักษณะการวางตัวของเจดีย์ที่แตกต่างจากโบราณสถานสมัยล้านนาแห่งอื่น ๆ ฐานเจดีย์ค่อนข้างขนาดเล็ก เช่นเดียวกับ เจดีย์วัดกู่ไม้ซ้ง วัดปู่เปี้ย วัดธาตุขาว วัดพญามังราย วัดน้อย และวัดกู่ป้าด้อม เป็นต้น
ส่วนศาลผีเสื้อ หรือศาลเจ้าที่มีผังรูปแปดเหลี่ยมอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโบราณสถาน มีลักษณะเดียวกับศาลผีเสื้อที่วัดปู่เปี้ย ซึ่งน่าจะสร้างในคติความเชื่อแบบเดียวกันกับโบราณสถานวัดปู่เปี้ย ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 และซุ้มโขงวัดกู่ริดไม้น่าจะมีอายุร่วมสมัยกับวัดปู่เปี้ย คืออายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันได้รับการบูรณะแล้ว
คราวหน้าจะพาไปต่อกันที่ไหนอีก โปรดรอติดตามผลงานกันได้เรื่อยๆครับ