กล่าวถึงวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) วัดแห่งนี้ถือว่ามีความสำคัญหลายอย่างกับเมืองเชียงใหม่
อย่างแรกเลยเป็นวัดวิปัสสนากรรมฐานทางภาคเหนือที่ทำการอบรมพระกรรมฐานในแนวสติปัฎฐาน 4 โดยปัจจุบันมีชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้ารับการอบรมปฏิบัติต่อเนื่องกันตลอดปี
อย่างที่สอง เป็นวัดแห่งแรกที่มีพระไตรปิฏกฉบับล้านนา และได้ชื่อว่าเป็นวัดที่มีพระไตรปิฏกฉบับภาษาต่างๆ มากที่สุดในโลก
อย่างที่สาม นอกจากจะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในการสอนกรรมฐานแล้ว ยังเป็นที่รู้จักอีกว่าเป็นสาขา (ที่สอง) ของการสอนพระอภิธรรม ของอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งกิจกรรมของวัดดำเนินไปได้ด้วยดี เพราะความร่วมมือกันทำงานของบุคลากรของวัด
มาที่ในส่วนของประวัติวัดบ้าง จากการรวบรวมข้อมูลไม่ได้บอกชัดว่าใช้เวลาสร้างนานเท่าใด กล่าวแต่ว่าสำเร็จแล้ว ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นวัดเก่าอยู่ก่อน และคงมีชื่อว่า ตะโปทาราม สำหรับชื่อวัดร่ำเปิงนั้น ในขณะที่สร้างวัด พระเจ้ายอดเชียงราย ทรงรำพึงถึงพระราชบิดา และพระราชมารดาอยากจะให้ทั้งสองพระองค์มีพระชนม์อยู่จะได้ร่วมทำบุญในครั้งนี้ด้วย และเพื่อให้เป็นที่บูชาคุณของทั้งสองพระองค์พระเจ้ายอดเชียงราย จึงทรงตกลงพระทัยให้ชื่อวัดที่สถาปนาขึ้นใหม่นี้ว้า วัดร่ำเปิง ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองเหนือ และตรงกับคำว่า รำพึง ในภาษากลางอันมีความหมายว่า คร่ำคราญ ระลึกถึง คนึงหา
สำหรับสิ่งที่น่าสนใจในวัดก็มี พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นลักษณะรูปแบบศิลปกรรมของเจดีย์เป็นทรงกลม ตั้งอยู่บนฐาน สี่เหลี่ยม 3 ชั้น ฐานแปดเหลี่ยม 1 ชั้น ฐาน กลม 1 ชั้น แล้วขึ้นมาเป็นชั้นบัวหงายคั่นด้วยลูกแล้วก่อนถึงชั้นกลมอีก 3 ชั้น แต่ละชั้นจะมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปโดยรอบจำนวน 8 องค์ ส่วนยอดเป็นองค์ระฆัง สูงประมาณ 23 เมตร กว้าง 12.20 x 12.40 เมตร และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานวัดร่ำเปิง ตามประกาศของกรมศิลปากร ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 25 มกราคม 2523
พระพุทธรูปหลวงพ่อตโป เป็นพระประธานในพระวิหาร สร้างสมัยพระเจ้าเชียงราย พ.ศ. 2035 เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด ฝีมือช่างล้านนา และสุโขทัย ปางพิชิตมาร หน้าตักกว้าง 59 เซนติเมตร สูง 82 เซนติเมตร ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พระวิหารเดิมเกิดชำรุดทรุดโทรมจนใช้การไม่ได้ คณะสงฆ์จังหวัดได้ประชุมตกลงกันให้อัญเชิญพระประธาน ไป ประดิษฐาน ไว้ ณ ด้านหลังรพระวิหารวัดพระสิงห์ และทำการก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2515 ก่อนจะอาราธนา หลวงพ่อตโป จากวัดพระสิงห์ กลับสู่พระวิหารวัดร่ำเปิง เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2518
พระพุทธรูปหลวงพ่อศรีอโยธยา เป็นพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูป เก่าแก่มีอายุประมาณ 700-800 ปี หล่อด้วยศิลา ขนาดหน้าตักกว้าง 30 นิ้ว สูง 47 นิ้ว โดย จ.ส.ต. ประยุทธ ไตรเพียร และคณะได้นำมาถวายไว้เป็นสมบัติของวัดร่ำเปิง เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2518
ขากลับพระอาทิตย์ตกดินสวยดี เอาซะหน่อย
รวมๆ แล้ววัดแห่งนี้เป็นวัดที่มีศาสนสถานสวยงาม ทั้งยังมีความสำคัญในด้านอื่นๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น บรรยากาศในวัดก็เงียบสงบร่มรื่นดี ส่วนใครที่ยังไม่เคยมา ขอแนะนำว่า “ควร” จะมาซักครั้งครับ