หลังจากไปเอ้อระเหยลอยชายแถววัดพันตองได้ซักแปบ ไหนๆ ก็ผ่านมาแถวนี้แล้ว ก็เลยถือโอกาสโฉบไปวัดลอยเคราะห์ด้วยล่ะกัน เพราะด้วยพิกัดมันอยู่ใกล้ ชนิดเดินไปไม่เท่าไหร่ก็เป็นอันถึง
จากปากซอยถนนลอยเคราะห์ ขี่รถเข้ามาไม่ทันไร ซ้ายมือก็จะเห็นเป็นวัดลอยเคราะห์ ด้วยอาณาเขตที่กว้างใหญ่ ซึ่งด้านในก็ประกอบไปด้วยศาสนสถานหลายอย่างด้วยกัน
ถ้าจำไม่ผิด มีความเชื่อบอกมาว่า ถ้าใครอยากสะเดาะเคราะห์ ลอยเคราะห์กรรม ที่กระหน่ำซัดใส่ชีวิตจนแทบเป๋ ให้มาไหว้พระที่วัดนี้ ซึ่งตรงนี้ กระผมก็ขอบอกไว้ก่อนเลยนะว่า มันเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ทั้งนี้ทั้งนั้นก็โปรดใช้จักรยานในการรับชมและรับฟังด้วย
วัดลอยเคราะห์ แต่เดิมชื่อว่า วัดร้อยข้อ (วัดฮ้อยข้อ) สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้ากือนากษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์มังราย มีอายุราว 500 ปี แต่เมื่อสมัยปลายราชวงศ์มังรายพม่าตีล้านนาได้ และเข้ามาปกครองซึ่งไม่ปรากฏว่ามีผู้บูรณะปฏิสังขรณ์อีก วัดนี้จึงทรุดโทรมลงตามลำดับ
กระทั่งถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขุนนางเชียงใหม่เบื่อหน่ายการปกครองของพม่า จึงได้เข้าร่วมกับกองทัพธนบุรีสู้รบกับพม่า แต่ไม่สามารถขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่ได้ เชียงใหม่ต้องรับศึกพม่าต่อมาอีก ดังนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงปล่อยให้เชียงใหม่เป็นเมืองร้าง วัดร้อยข้อ จึงกลายเป็นวัดร้างเช่นเดียวกับทุกวัดในเมืองเชียงใหม่
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ได้โปรดให้พระยากาวิละเข้ามาปกครองล้านนา 57 หัวเมือง และตั้งเชียงใหม่ขึ้นมาใหม่ภายหลังจากที่ร้างไปถึง 20 ปี พระองค์ทรงบูรณะซ่อมแซมเมืองให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์และเฉลิมนามเมืองใหม่ว่า “รัตนติงษาอภินวบุรีศรีเชียงใหม่”
จากนั้นพระเจ้าเชียงใหม่ยกทัพไปตีนครเชียงแสน ซึ่งขณะนั้นพม่ายึดครองอยู่แล้วกวาดต้อนผู้คนชาวเชียงแสนมาไว้ที่เชียงใหม่เพื่อเพิ่มพลเมืองเชียงใหม่ให้มากขึ้น และโปรดให้ชาวเชียงแสนตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ เวียงชั้นนอกด้านขวาของประตูท่าแพ ทางทิศตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ ชาวบ้านฮ่อม ซึ่งต่อมาได้สร้างวัดร้อยข้อที่รกร้างขึ้นใหม่ แล้วเอาชื่อวัดจากเมืองเชียงแสนมาตั้งชื่อ วัดร้อยข้อ ว่า “วัดลอยเคราะห์ ” ก่อนที่วัดจะมีพัทธสีมาเป็นเอกเทศ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2040 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 6 เมตร ยาว 16 เมตร
สำหรับศาสนสถานอย่างอื่นๆ ในวัดก็มีทั้งพระวิหาร อุโบสถ เจดีย์ ให้ได้ชมกัน ใครชมเสร็จไปไหว้พระไหว้เจ้าก็ตามสบายครับ ส่วนไหว้แล้วเคราะห์กรรมในชีวิตจะดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร อันนี้ก็ตอบให้ไม่ได้ รู้แต่ว่าความเป็นไปในชีวิตทุกอย่าง ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับการกระทำตัวเองอย่างเดียวล้วนๆ
“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ประโยคนี้ยังใช้ได้เสมอ ไม่มีเปลี่ยนแปลง