วัดลังกา หนึ่งในวัดที่ตั้งชื่อตามชาติพันธุ์ของกลุ่มชนในถิ่นนั้น ที่ถูกกวาดต้อน หรืออพยพมาตั้งแต่สมัยอดีต ซึ่งนอกจากวัดลังกา แล้ว ก็จะมีอีก 6 วัดด้วยกันที่ตั้งชื่อในลักษณะนี้ คือ วัดเมืองกาย วัดเมืองมาง วัดเมืองลัง วัดเมืองสาตรน้อย วัดเมืองสาตรหลวง และวัดดาวดึงษ์
แน่นอน เมื่อชื่อวัดตั้งตามชาติพันธุ์ ก็ต้องมีความเกี่ยวโยงกันกลุ่มชนที่กล่าวถึง
สำหรับวัดลังกา ถ้าจะเอาตั้งแต่แรกเริ่ม ข้อสันนิษฐานน่าจะเกี่ยวข้องกับชาวลังกา น่าจะมีมาตั้งแต่รัชสมัยพญากือนา ที่ พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้เผยแผ่เข้ามายังเชียงใหม่เป็นครั้งแรก โดยครั้งนั้น พระองค์ทรงสดับกิตติคุณของพระมหาเถระรูปหนึ่ง ชื่อพระอุทุมพรบุปผามหาสวามี เป็นพระลังกา แต่มาจำพรรษาที่เมืองนครพัน (เมาะตะมะ) พญากือนาจึงส่งฑูตไปอาราธนาพระอุทุมพรมาเชียงใหม่ แต่ท่านปฏิเสธว่า ท่านชราภาพมากแล้ว ขอส่งหลานชายคือพระอานันทเถระและคณะสงฆ์จำนวนหนึ่งมาแทน เมื่อพระอานันทมาถึง พญากือนานิมนต์ให้เป็นอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรเชียงใหม่ตามคติลังกาวงศ์ พระอานันทก็ปฏิเสธ จึงกล่าวแนะนำว่าพระอุทุมพรได้มอบอาญาสิทธิ์ตั้งพระเถระผู้ใหญ่ 2 รูป ชาวสุโขทัย คือ พระสุมนเถระ และ พระอโนมทัสสีเถระ ให้เป็นอุปัธยาจารย์ในนิกายลังกาวงศ์ ขอให้ไปนิมนต์พระรูปใดรูปหนึ่งขึ้นมาเถิด
ซึ่งจากมูลเหตุในจุดนี้ น่าจะเชื่อมโยงมาถึงการสร้างวัดลังกาด้วย เมื่อประวัติความเป็นมา ได้ระบุไว้ว่าวัดแห่งนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1947 ในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา โดยท้าวมหาพรหม พระอนุชาของพระเจ้ากือนา ซึ่งครองเมืองเชียงราย เป็นผู้นำพระที่ติดตามพระชาวลังกา เพื่อไถ่บาปที่ตนได้ยกทัพมาชิงเอาราชสมบัติจากพระเจ้าแสนเมืองมา พระราชโอรสของพระเจ้ากือนา แต่ไม่สำเร็จ
สำหรับสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจภายในวัดมี วิหาร สร้างใหม่แบบล้านนาประยุกต์ ไม่มีปากนกแลระหว่างชั้นหลังคา หน้าบันพื้นทาสีฟ้าประดับด้วยปูนปั้นลงดลายก้านขด โก่งคิ้วมีรวงผึ้งทั้ง 3 ช่อง ประตูเข้าภายในวิหารเป็นซุ้มโค้งทั้ง 3 ประตู เสาทุกต้นจะประดับลวดลายปิดทองร่องชาด ราวบันไดเป็นมกรอมนาค ประดับกระจกสี ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเวสสันดรชาดก
เจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบพื้นเมืองล้านนา ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสูง ชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยม องค์ระฆังกลม บัลลังก์สี่เหลี่ยมย่อมุม ส่วนยอดสุดเป็นฉัตร ตั้งแต่ชั้นมาลัยเถาสองชั้นจนถึงปลียอดปิดทองจังโก
ส่วนสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่เหลือ มีอุโบสถ วางตัวอยู่ใกล้ๆ กันกับบริเวณหลังวัด เลยจากวิหารไปนิดเดียว ทั้งนี้ ในส่วนด้านหน้าของวัด มีศาลเจ้าแม่กวนอิม และห้องสมุดประชาชน ที่อยู่ติดกันกับรั้ววัดไว้ให้บริการด้วย