หน้าฝนจะว่าไปแล้ว เป็นฤดูที่ไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่นักในการมาเที่ยว เนื่องจากมันชื้นเฉอะแฉะ ซึ่งบรรยากาศฝนพรำแบบนี้มันเหมาะกับการนอนแคะสะดือเล่นที่บ้านกว่าเป็นไหนๆ
กรณีสำหรับขาลุย ไม่รักสบาย อย่าได้เอาข้ออ้างเรื่องฤดูกาลไปพูดถึง เพราะปัจจัยเหล่านี้ไม่มีผล และสะทกสะท้านกับตัวเขา ซึ่งจะว่าไปผมก็เป็นหนึ่งในนั้น
แดดออก ฝนพรำ หิมะตก ถ้าสองขายังก้าวต่อไปได้ ผมก็ไปมันทุกที่ที่อยากจะไปโดยไม่แยแส เหมือนๆ กับที่บ่ายวันนึงฝ่าฝนมายังวัดศรีชลธาร ใน อ.แม่ริม
วัดศรีชลธาร เดิมชื่อว่าวัด “ห้วยน้ำริน” ตั้งอยู่ในหมู่บ้านห้วยน้ำริน เลขที่ 114 หมู่ที่ 3 ถนนโชตนา เชียงใหม่– ฝาง ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ประวัติความเป็นมาตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านห้วยน้ำริน ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งที่กรมชลประทานยังไม่ได้ขุดคลองส่งน้ำผ่านหมู่บ้านนั้น ลักษณะของหมู่บ้านเป็นที่ราบสูงและเอียงไปทางด้านทิศตะวันออก และทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้านนั้นมีแอ่งน้ำเล็ก ๆ อยู่ ซึ่งชาวบ้านโดยทั่วไปมักจะเรียกกันติดปากว่า “ห้วยริน” คือจะมีน้ำไหลรินออกมาจากรู เท่ากระบอกไม้ไผ่ตลอดเวลา ไม่ว่าฤดูกาลไหนๆ น้ำจะไหลออกจากรูสู่ห้วยนี้ตลอดเวลา ซึ่งที่อื่น ๆ นั้นบางฤดูกาลเช่น หน้าแล้งน้ำในหมู่บ้านจะไม่มีใช้ คือบ่อน้ำจะแห้ง ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ต่ำ แต่ที่ห้วยรินนี้อยู่ในพื้นที่สูงแต่จะมีน้ำไหลอยู่ตลอดเวลา เมื่อบ่อน้ำในหมู่บ้านแห้งชาวบ้านทั้งหลายก็ได้อาศัยน้ำจากในห้วยดังกล่าวนี้ นำไปดื่มไปใช้กันเรื่อยมา จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านห้วยน้ำริน”
พอต่อมาระยะหลัง ๆ กรมชลประทานได้ขุดคลองส่งน้ำ พอดีก็ขุดผ่านบริเวณห้วยดังกล่าวนี้ ในการขุดคลองชลประทานก็ไม่รู้ว่าจะเอาดินที่ขุดแล้วไปทิ้งไว้ที่ไหน ก็เลยเอาไปถมตรงห้วยนี้ จนทำให้ห้วยรินสภาพเดิมนั้นไม่หลงเหลืออยู่จวบจนทุกวันนี้ แต่ปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวประชาชนในหมู่บ้านจัดทำสวนสมเด็จย่าฯ มีการปลูกต้นไม้ พระครูอุดมวุฒิคุณ เจ้าคณะอำเภอแม่ริมในสมัยนั้น จึงได้ตั้งชื่อวัดให้ใหม่เป็น “วัดศรีชลธาร” ความหมายก็คือ “ห้วยน้ำริน”
เดิมทีนั้นมีประชาชนได้ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานไม่กี่หลังคาเรือน นับถือพระพุทธศาสนาก็ได้ช่วยกันก่อตั้งวัดขึ้นที่กลางทุ่งนา เพราะเห็นว่าเป็นสถานที่สาธารณะว่างเปล่าตั้งมาได้นานพอสมควรจนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา มีการสร้างอุโบสถ กาลต่อมาสถานที่ดังกล่าวไม่อำนวยความสะดวกให้ในหลายๆ ด้าน ประชาชนจึงได้พร้อมใจกันย้ายวัดเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน (ตรงข้ามกับวัดที่อยู่ปัจจุบัน) ช่วงระยะนั้นโรงเรียนประชาบาลยังไม่มี ก็ได้อาศัยวัดเป็นสถานที่เรียนหนังสือ ตั้งวัด ณ จุดนี้นานพอสมควร ถนนโชตนา (เชียงใหม่ – ฝาง) ได้ตัดผ่านทางด้านหลังวัด จึงทำให้เห็นพ้องต้องกันว่าควรจะย้ายวัดไปอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม จึงได้พร้อมใจจับจองพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตก (ที่ตั้งวัดปัจจุบัน)
ต่อมาได้มีการก่อสร้างเสนาสนะต่าง ๆ เช่น กุฏิ วิหาร ตลอดถึงเสนาสนะต่าง ๆ ประชากรของหมู่บ้านก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความเจริญทางด้านต่าง ๆ ติดตามมา เจ้าอาวาสในสมัยนั้นได้ทำหนังสือถึงกรมการศาสนา เพื่อขออนุญาตตั้งเป็นวัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย ในที่สุดก็ได้รับอนุญาตให้เป็นวัดโดยสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2480 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2498 และได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2500 มีพระมหาดวง ฐิตวีโร เป็นเจ้าอาวาส