คาดว่ายังทันนะครับ ถ้าจะขอเล่าถึงเรื่องวัดศรีโขง
1 เดือนก่อนหน้านี้ มีน้องผู้หญิงรู้จักคนนึงถามผมว่า พี่ๆ ช่วยแนะนำวัดหน่อย หนูจะไปทำบุญ ขอเอาวัดที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักล่ะกัน คนจะได้น้อยๆ แนวๆ แบบว่าวัดกำลังพัฒนา หรือว่าวัดไม่ค่อยเจริญเท่าไหร่
ผมนิ่งเงียบไปซัก 2 นาที ก่อนจะค่อยๆ เปิดเผยรายชื่อวัดแตกล่ะแห่งออกมา ก่อนรายชื่อทั้งหมดกว่า 5-6 วัดจะถูกปฏิเสธ
“หนูไปมาแล้วพี่วัดนี้”
“ไม่เอาพี่ วัดนี้คนเยอะ”
“วัดนี้ไกลไปพี่” ฯลฯ
สุดท้ายผมนึกออกถึงวัดศรีโขง ใกล้ๆ กับท่าเรือแมงป่อง วัดนี้เลยอีน้อง มีหลวงปู่จำพรรษาอยู่รูปเดียว วัดรกร้างไม่มีใครดูแลด้วย หลวงปู่ก็ไม่ค่อยสบาย ไปถวายสังฆทาน กับทำความสะอาดเล็กๆ น้อยๆ ในวัดน่าจะเวิร์ก
“โอเคพี่ วัดนี้เลยล่ะกัน” หล่อนตอบกลับมา
ให้หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ เห็นเธอโพสรูปลงเฟซบุ๊คกับเพื่อนสาวก่อนจะบอกว่ามาทำบุญที่วัดเชียงมั่น พอผมถามกลับว่า ไม่ไปวัดศรีโขงแล้วเหรอ เธอตอบผมว่า ไม่ไปแล้ว คนไปเยอะ
โถ! แล้วจะถามเพื่อ…?
นั้นแหละครับ ผู้หญิงคือสิ่งที่มีชีวิตที่ไม่ต้องการความเข้าใจ และไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น!
ในเมื่อเธอไม่ไป ว่าแล้วผมก็เลยแวะไปสำรวจดูว่าวัดนี้มีอะไรบ้าง หลังจากถูกกระแสเฟซบุ๊คปล่อยข่าวครึกโครมอย่างหนักเกี่ยวกับพระชราที่จำพรรษาอยู่รูปเดียวในวัด กับสภาพที่ต้องบอกว่า “รกร้าง” และ “ทรุดโทรม”
พอไปถึงวัด สายตาผมก็รีบทำการสำรวจทันที ปรากฏว่าด้านในดูดีขึ้นเยอะเป็นกองครับ ร่องรอยการทำความสะอาด ภายในบริเวณวัดมีให้เห็นกันทั่วบริเวณ ป้ายกองกฐิน และเชิญชวนมาทำบุญ บูรณปฏิสังขรณ์ อะไรต่างๆ ก็ติดกันแทบจะทั่วบริเวณ ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการเชิญชวนให้ชาวพุทธมาทำบุญ และร่วมด้วยช่วยกันทำให้วัดมันดูดีขึ้น ส่วนพระครูสุพัฒน์ รัตนโชติ เจ้าอาวาสวัดศรีโขง ซึ่งแก่ชรา และต้องจำพรรษาอยู่ในวัดคนเดียวนั้น ผมไม่ได้มีโอกาสเข้าพบกับพระท่านครับ
สำหรับสาเหตุที่ พระครูสุพัฒน์ รัตนโชติ เจ้าอาวาสวัดศรีโขง ต้องจำพรรษาอยู่ที่นี้คนเดียวนั้น เพราะพระบางรูปได้ย้ายไปจำพรรษายังวัดอื่น หรือมรณภาพไปแล้ว โดยพระครูจำพรรษาอยู่รูปเดียว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา จากนั้นก็มีอาการข้อเท้าบวม และตาเป็นต้อกระจกด้วย จนไม่สามารถออกเดินไปบิณฑบาตได้
ส่วนประวัติความเป็นมาของวัดศรีโขง บอกกล่าวไว้ว่าสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2410 เป็นวัดเก่าแก่ มีอายุรวมกว่า 146 ปี โดยบริเวณตรงข้ามกับประตูวัดทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นหลังวัด มีท่าน้ำใหญ่ติดกับน้ำปิง คนจึงเรียกกันว่า “ท่าศรีโขง”
บริเวณด้านเหนือของวัดติดกับคุ้มเจ้าราชบุตร (วงศ์ตะวัน) ส่วนทิศใต้เดิมติดกับที่ชาวบ้าน และเป็นที่ขึ้นขอนไม้สักที่ไหลมาตามแม่น้ำปิงจุดหนึ่ง โดยชาวบ้านได้เล่าขานกันว่า แต่เดิมบริเวณที่เป็นพระเจดีย์ของวัดศรีโขงนี้ เคยมีต้นไม้สรีหลวง(สะหลี) หรือ ต้นโพธิ์ใหญ่ ซึ่งมี “โขง” หรือ “โพลง” ที่โคนต้น โขงที่ว่านี้มีขนาดกว้างใหญ่ขนาดที่คน 20 คน สามารถเข้าไปหลบฝนได้
ภายหลังจากวัดถูกสร้างขึ้นมาเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน และพุทธศาสนิกชนในละแวกใกล้เคียงชาวจังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นเวลานาน จวบจนปัจจุบัน ชื่อเสียงของวัดเริ่มเลือนหาย เนื่องด้วยในตัวเมืองเชียงใหม่มีวัดจำนวนมาก และชาวบ้านไม่ค่อยเข้ามาทำบุญกัน จนสุดท้ายเหลือพระจำวัดอยู่เพียงรูปเดียว และสภาพวัดที่เริ่มทรุดโทรม ขาดการดูแลพัฒนาอย่างที่เห็น
นอกจากจะสำรวจถึงสภาพความทรุดโทรมภายในวัดแล้ว ในเรื่องของสถาปัตยกรรม วัดแห่งนี้ถือว่ามีความสวยงามในระดับนึงเลยล่ะ ซึ่งการจะพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้ามาช่วยกันดูแลให้มันมีสภาพสวยงาม และน่าอยู่ก่อนเป็นสิ่งแรกครับ