วัดศรีโสดา

C360_2014-01-19-12-14-42-356

ส่วนใหญ่ใครที่ขึ้นไปเที่ยวดอยสุเทพ หลักๆ ที่ต้องแวะระหว่างเส้นทางก็คงหนีไม่พ้นอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย และจากนั้นค่อยไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพ ส่วนจะต่อไปยังพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์, ดอยปุย หรือขุนช่างเคี่ยน อะไรนั้นค่อยว่ากันอีกที

ระหว่างทางขึ้นไปอันที่เป็นเรื่องรองๆ ลงมา ทำนองว่าจะแวะก็ได้หรือไม่แวะก็ได้นั้น ก็จะมีไปตั้งแต่เชิงดอยอย่าง น้ำตกห้วยแก้ว วังบัวบาน น้ำมณฑาธาร ผาเงิบ และวัดผาลาด (จริงๆ แล้วก็ควรจะแวะล่ะนะ เพราะไหนๆ ก็มากันแล้ว)

C360_2014-01-19-12-11-38-530

วัดศรีโสดา อีกหนึ่งสถานที่บนเส้นทางขึ้นดอยสุเทพที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยแวะกัน กล่าวคือ พอไหว้อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย เสร็จก็พากันตรงดิ่งไปยัง วัดพระธาตุดอยสุเทพ กันเลย

แน่นอน คำถามกับตัวเองเกิดขึ้นในฐานะที่ยังไม่เคยมาวัดแห่งนี้ ว่าแท้จริงแล้วชาวบ้านคนอื่นไม่มีเวลา หรือว่าวัดไม่มีอะไรน่าสนใจ ซึ่งทางเดียวที่จะได้คำตอบจากเรื่องนี้ก็คือต้องลองแวะไปดู

จากอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยมาประมาณ 200 เมตร เป็นทางขึ้นของวัด ผมเลือกขึ้นมาทางบันไดนาคโดยจอดรถมอเตอร์ไซค์ไว้ด้านล่าง

C360_2014-01-19-12-12-13-086

ประวัติความเป็นมาบอกไว้ว่า วัดศรีโสดา มีความผูกพันกับการสร้างถนนขึ้นบนพระธาตุดอยสุเทพ ในปี พ.ศ.2477 ตอนนั้น หลวงศรีประกาศ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ มีความคิดที่จะนำไฟฟ้าขึ้นไปติดตั้งบนดอยสุเทพ แต่ไม่มีงบประมาณ จึงได้ขอพึ่งบุญบารมีครูบาศรีวิชัย ซึ่งท่านเห็นด้วยแต่ขออธิษฐานดูก่อนว่าเป็นไป ได้หรือไม่ ท่านอธิษฐานถึง 2 ครั้ง ปรากฏว่าเป็นไปได้ยาก แต่การสร้างถนนขึ้นไปนั้นจะเสร็จเร็วกว่าจึงตกลงที่จะสร้างถนนขึ้นไปยังพระธาตุดอยสุเทพโดยมีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นผู้ลงจอบแรกเป็นปฐมฤกษ์ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2477

ทั้งนี้ระหว่างการสร้างถนน ครูบาศรีวิชัยได้สร้างวัดขึ้นควบคู่กันไป 4 วัด โดยตั้งชื่อให้มีความหมายเกี่ยวโยงถึงขั้นคุณภาพที่ผู้ปฏิบัติธรรมพึงบรรลุ ได้คือมรรค ผล นิพพาน เทียบพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา 4 ชั้น วัดแรกที่สร้างคือ วัดโสดาบัน ต่อไปอีก 4 กิโลเมตร สร้าง วัดสกิทาคามี ถัดไปอีกเรียกว่า วัดอนาคามี ลำดับสุดท้ายบนยอดดอยสร้างอีกวัดหนึ่งเรียกว่า วัดอรหันต์

อนึ่ง วัดโสดาบัน ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น วัดศรีโสดา ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่าเปลี่ยนในสมัยใดแต่น่าจะอยู่ในช่วง พ.ศ.2479 – 2509 สมัย ครูบาเสาร์ นารโท เป็นเจ้าอาวาส สาเหตุที่เติมคำว่า ศรี เข้าใจว่ามาจากชื่อครูบาศรีวิชัย เพื่อเป็นอนุสรณีย์ ยกย่องเชิดชู น้อมรำลึกคุณูปการที่ท่านสร้างวัดนี้ขึ้นมา

C360_2014-01-19-12-14-42-356

สิ่งที่น่าสนใจในวัดก็จะมี วิหารครูบาศรีวิชัย โดยวิหารหลังเดิมสร้างขึ้นสมัยครูบาศรีวิชัย พ.ศ.2477แล้วเสร็จสมบูรณ์ พ.ศ.2478 ได้เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ต่อมาได้ทำการรื้อถอนก่อสร้างขึ้นใหม่ ลักษณะคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ทรงล้านนา พ.ศ.2535 แล้วเสร็จปี พ.ศ.2539 ชื่อว่า “วิหารครูบาศรีวิชัย” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยกช่อฟ้า วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2539 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์พระประธานใน กว้าง 2 เมตร สูง 2 เมตร

C360_2014-01-19-12-22-30-420

C360_2014-01-19-12-16-05-631

ส่วนสถานที่อื่นๆ ในวัดก็มี เจดีย์ กว้าง 6.20  เมตร ยาว 6.20 เมตร ศาลาสองศรีอนุสรณ์ ศาลา ส.ว.สมเด็จพระบรมราชชนนี และวิหารอนุกูลพุทธานุสรณ์ (ศาลาจีน) รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่าง รูปหล่อสัมฤทธิ์สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ รูปหล่อสัมฤทธิ์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ไม้สักแกะสลักครูบาเจ้าศรีวิชัย พระพุทธรูปทองเหลืองปางสมาธิ ปางเลไลย์ และปางสีวลี รูปปั้นครูบาศรีวิชัยนั่งสมาธิ และหออารักษ์ (ศาลาพระเสื้อวัด)

C360_2014-01-19-12-19-26-507

หลังสำรวจดูแล้ว ในที่สุดก็ได้คำตอบกับตัวเองตั้งแต่ทีแรกว่า แท้จริงแล้ววัดไม่มีอะไรน่าสนใจ หรือใครๆ ไม่มีเวลา ซึ่งเอาตามที่ผมว่าคำตอบมันน่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่านะครับ