โน้ส อุดม เคยบอกไว้ในเดี่ยว 9.5 เชียงใหม่ว่า เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีร้านเหล้าเยอะมาก แต่ที่มากกว่าร้านเหล้าคือร้านกาแฟ และอีกอย่างที่เยอะพอๆ กันมันก็คือ ร้านนวดเท้าครับ
ในกรณีนี้ถ้าเป็นร้านทั่วไป อันนี้อาจจะปกติครับ แต่ถ้าเป็นพวกร้านตามถนนคนเดิน ขอบอกว่าเยอะมาก คือไม่รู้ว่าจะเยอะไปไหน
“ไม่ให้มาวางตำแหน่งตรงถนนคนเดิน แล้วจะให้ไปวางตรงไหนกันฟะ ก็ที่นี้คนมาเดินช้อปกันเยอะ” คนนวดเท้าอาจจะบ่นเช่นนั้น
เดินเล่นเหนื่อยๆ แล้วเมื่อยตีน การผ่อนคลายด้วยการนวด น่าจะเป็นท่าออก อืมมมม เข้าท่าดีนะ แต่เดี๋ยวก่อน วันปกติที่ไม่มีถนนคนเดิน ในวัดก็มีให้นวดนะครับ
เออ ชักไม่ใช่แล้ว…
ที่ต้องบอกเช่นนั้น ก็เพราะเห็นแม่หมอนวดหลายคนกำลังตะบี้ตะบันนวดให้ลูกค้าในวัดสำเภาครับ ซึ่งวัดแห่งนี้ถ้าใครไม่มาเที่ยวถนนคนเดินวันอาทิตย์ ก็แทบจะไม่มีโอกาสย่างกรายเข้ามาเที่ยวเลยล่ะ เพราะด้วยขนาดของพื้นที่วัด และชื่อเสียงเรียงนาม มันไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะดึงดูดให้คนเข้าไปเที่ยวชม ดีหน่อยที่ว่าอาศัยอานิสงส์ผลบุญจากถนนคนเดิน มาช่วยดูดนักท่องเที่ยวให้ย่างกรายเข้ามาชมบ้าง อะไรบ้าง
แต่ก็ใช่ว่าถนนคนเดินจะช่วยไปหมดซะทุกอย่างนะครับ เนื่องด้วยวันที่มาเดินถนนคนเดิน มันไม่มีโอกาสมาสำรวจหรอกว่าในวัดมีอะไรน่าสนใจ ไอ้ที่รู้วันนั้นก็แค่รู้ว่ามีวัด และด้านในมีของกินขายเพียบ พอๆ กับบริเวณวัดพันอ้นที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน
นู้นเลย ถ้าจะรู้ มันต้องมากันตอนกลางวันเหมือนผมเท่านั้น!
จากการสำรวจภายในบริเวณวัด ถือว่าเล็กเลยละครับกับฝั่งด้านใน บรรยากาศแลดูเงียบสงบ มีแค่เสียงพูดคุยแม่หมอนวดกันเท่านั้น
ตามประวัติวัดสำเภา บอกกล่าวไว้ว่า สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์มังราย โดยคำว่า “สำเภา” มาจากคำว่า “สะเพา” และจากคำบอกเล่าของ เจ้าบัวนวล สิโรรส บอกไว้ว่ามีพ่อค้าชาวเมืองระแหง (ตาก) ขึ้นมาค้าขายในเมืองเชียงใหม่ มีศรัทธาสร้าง “สำเภาทอง” บรรจุไว้ในเจดีย์ วัดจึงได้ชื่อว่า “วัดสำเภา”
ต่อมา ในปี พ.ศ.2362 พระญาธรรมลังกา เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 2 ได้มาทำบุญถาวรวัตถุ ก่อน เจ้าสุริยวงศ์ (คำตั๋น สิโรรส) ได้ทำนุบำรุงสืบมา
สำหรับศาสนสถานด้านในวัดก็มีพระวิหาร ที่มีลายปูนปั้นเป็นศิลปะล้านนา ประดับหน้าบัน และที่ฐานชุกชีมีรูปปั้นสัตว์หิมพานต์ที่สวยงาม และใกล้ๆ กันเป็นอุโบสถ โดยด้านหน้าอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าสำเภาเงิน สำเภาทอง ส่วนด้านหลังวัดมีองค์เจดีย์สีเหลืองอร่ามทองวางตัวอยู่
ตอนกลับ ผมออกมาถ่ายป้ายชื่อวัดด้านหน้า ก่อนจะสังเกตผมว่า ตรงป้ายวัดด้านบนมีบางอย่างวางตัวอยู่ลักษณะคล้ายเรือสำเภา ซึ่งจากการคาดเดาคิดว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับชื่อวัดนั้นแหละ
และบางที่ไอ้สิ่งเล็กๆ ที่ผมสังเกตนี้ อาจจะเป็นจุดสนใจเดียวที่ผมจำได้มากที่สุดเกี่ยวกับวัดแห่งนี้ มากกว่าจะจำว่ามันมีร้านนวดเท้าอยู่ด้านใน