วัดหมื่นสาร อีกหนึ่งวัดที่ถือเป็นวัดประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ และมีความเก่าแก่เป็นอย่างยิ่ง สถานที่อันเป็นแหล่งเรียนรู้อักขระที่สำคัญ เป็นสถานที่แปลพระราชสาสน์ และก็เคยเป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ โดยวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์เม็งราย
วัดหมื่นสาร ถือเป็นศูนย์กลางของชุมชนบ้านวัวลาย เช่นเดียวกับชุมชนวัดศรีสุพรรณ ซึ่งถูกอพยพมาจากแขวงเมืองปั่น ลุ่มแม่น้ำสาละวิน และด้วยเหตุนี้ ศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมอย่าง ในวัด จึงมีความหลากหลายและงดงาม โดยศาสนสถานอันสำคัญ ก็จะมีกันดังต่อไปนี้
พระวิหาร มีอายุหลายร้อยปี ตามตำนานนั้นกล่าวว่า วิหารหลังนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอดรวมถึง 4 ครั้งด้วยกัน และพระวิหารหลังนี้ได้ลงมือทำการก่อสร้างขุดหลุมเสาแรกเป็นปฐมฤกษ์เบิกชัยมงคล เมื่อปี พ.ศ. 2524 ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น 4 ปีเต็ม
พระเจดีย์ เป็นทรงล้านนาผสมไทยใหญ่ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2465 – 2466 เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะเด่นและแตกต่างไปจากเจดีย์องค์อื่นๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย มีรูปแบบขององค์เจดีย์เป็นรูปทรงปราสาท ซึ่งสร้างโดยฝืมือช่างชาวไทยใหญ่ลักษณะพิเศษของเจดีย์คือ มีซุ้มโขง 4 ทิศ ประดิษฐานพระ 4 ด้าน ปางยืนลีลา 4 ปางมีตัวสิงห์ประดับทั้ง 4 ด้านของพระเจดีย์สิงห์ทั้ง 4 ด้านยกขาหน้าทั้ง 4 มุม บันไดที่สร้างขึ้นจุดประสงค์เพื่อใช้ขึ้นไปสรงน้ำพระบนพระธาตุเจดีย์รูป ฐานเจดีย์ข้างหน้ามีสิงห์คาบงูหนึ่งตัว สิงห์อีกตัวคาบคนไว้ มีรูปปั้นของเสือเยนทั้ง 2 ด้าน รูปปั้นของเสือเยนนี้ ก็เกี่ยวเนื่องกับตำนานเสือเย็นแห่งวัดหมื่นสาร และบนลานเจดีย์ยังมีฉัตรทั้ง 4 ด้าน ที่ล้วนเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยใหญ่
อุโบสถ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2534 รูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ยกพื้นสูง
อนุสาวรีย์ทหารญี่ปุ่น แต่ก่อนในอดีต วัดหมื่นสารเป็นสถานที่ของกองทัพทหารญี่ปุ่น ที่บุกยึดใช้เป็นที่ตั้งสำหรับเก็บเสบียงอาวุธ และเป็นค่ายที่พักสำหรับทหารญี่ปุ่น ที่ได้รับบาดเจ็บพักรักษาพยาบาลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งกองทัพญี่ปุ่นแพ้สงคราม ทหารหลายนายได้เสียชีวิตลงที่นี้ จากนั้นได้มีการนำอาวุธสงครามหลายชิ้น ทิ้งลงในน้ำบ่อหลวงภายในวัดหมื่นสาร และต่อมาเมื่อทางการญี่ปุ่นได้มาสืบค้นประวัติความเป็นมา เกี่ยวกับร่องรอยการเสียชีวิตของทหารญี่ปุ่นในวัดหมื่นสาร จึงได้ประกอบพิธีไว้อาลัย และสร้างอนุสาวรีย์แก่ผู้ตายไว้ในวัดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 มีบรรดาเพื่อนทหารผ่านศึกรวม 6 คน ที่เคยร่วมรบกับบรรดาทหารที่เสียชีวิต 32 คน มาร่วมในพิธี และจารึกข้อความไว้อาลัยแก่บรรดาทหารที่เสียชีวิตทั้งหมด
สถูปบรรจุอัฐิธาตุครูบาศรีวิชัย สร้างโดยพระสงฆ์และคณะศรัทธาวัดหมื่นสาร ก่อนจะทำพิธีบรรจุเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 โดยสถูปวัดหมื่นสารนั้นไม่มีหลักฐาน ระบุแน่ชัดว่าเป็นอัฐิธาตุส่วนที่ได้แบ่งให้กับจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำมาบรรจุที่วัดสวนดอกหรือไม่ เนื่องจากไม่มีการจดบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ เป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงแต่คำบอกเล่าของผู้อาวุโสในหมู่บ้านวัวลาย ซึ่งเป็นผู้ร่วมเห็นเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้ให้ข้อมูลสรุปว่าอัฐิธาตุครูบาศรีวิชัย เป็นอัฐิที่ได้รับมาจากครูบาขาวปี๋ ศิษย์เอกของครูบาศรีวิชัย ซึ่งในขณะนั้นครูบาขาวปี๋ และครูบาอินตาอดีตเจ้าอาวาสวัดหมื่นสาร ได้ร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์ วิหารวัดหมื่นสารเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2490 – 2493
ตบท้ายด้วย หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต เดิมเรียกกันว่าหอเงิน และศาลาโลหะ 3 ครูบา ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต” หอศิลป์แห่งนี้จะประดิษฐานหุ่นขึ้ผึ้งรูปเหมือน 3 ครูบา พระสงฆ์ผู้มีคุณูปการ เป็นที่เคารพรักและศรัทธาของชาวบ้านวัวลาย นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา, ครูบาอินตา อินทปัญโญ (ครูบาอินต๊ะ) และพระครูโอภาสคณาภิบาล (ครูบาบุญปั่น ปุญญาคโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดหมื่นสาร
และด้วยข้อมูลหลายอย่าง ระดับละเอียดยิบของหอศิลป์สุทฺธจิตฺโต กระผมจึงอยากจะขอแยกย่อยเป็นตอนเฉพาะ เอาไว้โอกาสหน้า รับรองว่าหอศิลป์สุทฺธจิตฺโต แห่งนี้ มีอะไรน่าสนใจ ให้ชมกันเพียบเลยครับ
โปรดรอคอยด้วยใจระทึกพลัน…