วัดหัวฝาย วัดที่ในสมัยก่อนมีฝายทดน้ำอยู่หน้าวัด ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของน้ำแม่ข่า ก่อนปัจจุบันจะมีการก่อสร้างบ้านเรือน และอาคารแทนพื้นที่ทำการเกษตรเพิ่มขึ้นไปหมด เหลือทิ้งไว้วัดที่ยังคงเรียกว่า “วัดหัวฝาย”
วัดหัวฝาย วางตัวอยู่นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านนอก โดยอยู่ถัดจากกำแพงดินมาทางทิศใต้ มีกำแพงดินอยู่ข้างวัด และมีลำน้ำแม่ข่าอยู่นอกกำแพงดิน
วัดหัวฝาย ในสมัยก่อนตั้งอยู่กลางทุ่งนา มีประวัติว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2130 เดิมชื่อวัดศรีทรายมูล แต่ด้วยลักษณะพื้นที่เป็นทุ่งนาที่กว้างใหญ่ และชาวบ้านได้ทำการเกษตรเสียส่วนใหญ่ประกอบกับมีลำน้ำไหลผ่าน และมีฝายทดน้ำอยู่หน้าวัดซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของน้ำแม่ข่า จึงได้เรียกติดปากว่า วัดหัวฝาย
นายน้อย สุริยา เล่าไว้ว่าเมื่อ 50 ปีก่อน หน้าวัดเป็นทุ่งนาโล่ง ด้านหน้าวัดเป็นที่ของราชการให้คนเช่าทำนา ด้านหลังวัดด้านทิศใต้เป็นที่นาของนายเฉลิม อารีย์ จำนวนเป็น 1,000 ไร่ เรื่อยไปจนถึงบ้านศรีปิงเมือง สมัยที่ทางราชการมีนโยบายให้ตัดถนนจากถนนประชาสัมพันธ์ผ่านหน้าวัดเพื่อไปทะลุถนนมหิดล เจ้าของนารายหนึ่งมีนาน้อยไม่อนุญาตให้ตัดผ่านที่นาของตัวเองแต่นายเฉลิม อารีย์อนุญาตให้ตัดผ่านที่นาของตัวเองได้ ถนนสายที่ผ่านหน้าวัดจึงต้องอ้อมเข้าที่นาของนายเฉลิม ไปทะลุถนนมหิดลทางด้านหน้าศาลแม่กวนอิม
อีกคนเป็น นางประทวน ดุลยาภากร ให้ข้อมูลว่า ชุมชนบ้านหัวฝาย สมัยเมื่อ 50-60 ปีล่วงมา มีเพียง 20-30 ครอบครัวเท่านั้น บ้านหัวฝายถือว่าอยู่ติดประตูก้อม ประตูก้อมอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ คำว่า วัดหัวฝายมาเรียกภายหลัง เมื่อก่อนเรียกวัดน้ำปู๋ สมัยเด็กยังใช้คำนี้อยู่ แต่เดิมจริงๆ ชื่อว่าวัดศรีสร้อยทรายมูล เหตุที่เรียกวัดหัวฝายเนื่องจากมีการทำฝายน้ำจากน้ำแม่ข่าเป็นคลองส่งน้ำผ่านหน้าวัดให้ชาวบ้านใช้น้ำทำนา ฝายน้ำนี้ไปจบกับน้ำแม่ข่าอีกครั้งและไหลลงแม่น้ำปิงที่บ้านป่าแดด ส่วนบ้านหัวฝายสมัยก่อนนี้เคยเรียกว่า บ้านแม่ข่า
ส่วนพระปลัดบุญธรรม ธมฺมวโร (สุวรรณ) เจ้าอาวาสวัดนันทาราม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัดหัวฝายว่า วัดหัวฝายอยู่ทุ่งช้างคลาน สมัยก่อนเรียกกันว่า วัดน้ำปู๋ หากจากในตัวเมืองบริเวณประตูเชียงใหม่ไปวัดด้านทิศใต้ต้องผ่านข้างวัดหัวฝาย กล่าวคือ เดินออกทางประตูก้อม มีทางเดินผ่านข้างวัดหัวฝาย บริเวณนั้นมีฝายกั้นน้ำเรียก ขัวเจ้าโย เส้นทางนี้ผ่านสวนเจ้าโดยอยู่ข้างวัดหัวฝายด้านทิศใต้ หากเลี้ยวซ้ายไปโรงหมู เลี้ยวขวาไปวัดป่าพร้าวนอกเดินไปตามคันนา
สรุปแบบภาพรวม ก็ต้องบอกว่า วัดหัวฝาย เคยมีฝายทดน้ำอยู่หน้าวัดของลำน้ำแม่ข่า โดยเป็นคลองส่งน้ำผ่านหน้าวัดให้ชาวบ้านใช้น้ำทำนากันในสมัยนั้น ก่อนจะถูกความเจริญกลืนกินจนสูญหายไปตามกาลเวลา