วัดอีค่าง

C360_2013-11-06-17-06-24-221

ถ้าให้พูดถึงเรื่องลิง สมัยยังเด็กๆ ลิงที่กุมภวาปี และที่โกสุมพิสัย เป็นสองที่แรกที่ตัวเองนึกถึง

เอาที่ไปบ่อยสุดคือกุมภวาปีครับ และที่มีโอกาสไปได้ไปเจอ เพราะตอนเด็กๆ ตามติดพ่อในฐานะบอดี้การ์ด นั่งหน้ารถไปขายหอม กระเทียมแถวนั้น ค่าจ้าง 5 – 10 บาท หรือขนมห่อสองห่อ ก็เพียงพอสำหรับเด็กคนนึงที่จะใช้เวลาหยุดออกมาเป็นเพื่อนคุยพ่อเวลาทำงาน ที่สำคัญการอยู่บ้านก็ไม่ได้สนุกไปมากซักเท่าไหร่

กิจกรรมช่วงพักกลางวันที่ทำประจำตอนนั้น พ่อจะพาผมไปนั่งคัดเลือกหอมเน่า และผลไม้บางชิ้นโยนให้ลิงกิน ซึ่งความสนุกมันอยู่ตรงที่การแย่งอาหารของลิงเนี่ยแหละครับ

บางตัวชั้นเชิงแพรวพราวเพียบ แถมลูกน้องเยอะ เวลาจะแย่งอาหารที 80 เปอร์เซ็นต์ไม่มีคำว่าพลาด ส่วนไอ้ตัวที่ทักษะน้อยหน่อยก็จ๋อยแดกไปตามระเบียบ รอดักเก็บจังหวะสองเอาเวลาตัวเก่งๆ พลาดมือ ตัวไหนซนหน่อยแย่งเพื่อนไม่ได้ บางทีของกินในมือคน มันก็วิ่งตรงมาฉกไปดื้อๆ

มิน่าแหละครับ เวลาเด็กมันซน คนเข้าถึงเรียกว่า “ดื้อเหมือนลิง”

C360_2013-11-06-17-10-57-372

ที่ให้นึกออกเรื่องลิงๆ ค่างๆ นี้ก็เพราะตัวเองมาเที่ยวเวียงกุมกาม แล้วดันไปเจอชื่อวัด “อีค่าง” วัดที่ในสมัยก่อนยังไม่ล่มสลายของเวียงกุมกาม มีฝูงลิงค่างมากมายใช้ชีวิตอยู่

C360_2013-11-06-17-05-25-867

แต่เดิม บริเวณวัดอีค่างนี้เป็นป่ารกร้างกันครับ โดยชื่อคำว่า “ค่าง” ตามภาษาท้องถิ่นออกเสียงว่า “อีก่าง” ใช้เรียกเป็นชื่อวัดสืบต่อกันมาจากลักษณะแถวนั้นที่มีลิงค่างอาศัยอยู่ ซึ่งวัดแห่งนี้กรมศิลปากรได้ดำเนินงานขุดแต่งโบราณสถานวัดอีค่าง เมื่อ ปี พ.ศ. 2528 – 2529 สิ่งที่พบก็เป็นเจดีย์ตั้งอยู่ด้านหลังวิหารหันหน้าไปทางทิศเหนือสู่ลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิง ก่อนต่อมาปี พ.ศ. 2546 มีการขุดตรวจพบแนวกำแพงแก้วในพื้นที่ทางทิศตะวันตกของเจดีย์ และจะปัจจุบันก็ยังมีการขุดแต่งต่อไปเรื่อย

C360_2013-11-06-17-05-06-344

เจดีย์วัดอีค่างยังคงมีสภาพสมบูรณ์ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังบนฐานบัวลูกแก้วสูงตั้งอยู่บนฐานเดียวกับวิหาร และมีลานกว้าง สำหรับประทักษิณรอบเจดีย์วิหารคงเหลือเพียงฐานขนาดใหญ่ พบร่องรอยฐานเสาบนพื้นอาคารถึง 16 ต้น มีบันไดทางขึ้น – ลง ด้านหน้าวิหารและด้านข้างบริเวณลานประทักษิณ ซึ่งประดับปูนปั้นรูปตัวเหงาที่หัวบันได

C360_2013-11-06-17-09-25-657

นอกจาการขุดค้นพบโบราณสถานและโบราณวัตถุแล้ว การวิเคราะห์ด้านตะกอนวิทยาของชั้นดินจากอีก้าง ก็เป็นอีกเรื่อง ที่มีการศึกษาประเด็นเรื่องน้ำท่วมเวียงกุมกาม โดยจากการศึกษาหลักฐานบ่งบอกให้ทราบถึงการเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ซึ่งมีความรุนแรงพอที่จะพัดพาตะกอนมาทับถมประกอบกับการเกิดน้ำท่วมเป็นระยะๆ ทำให้ชั้นดินมีตะกอนทรายหยาบสลับทรายละเอียด และสลับกับกรวดได้พบกับโบราณวัตถุที่มีอายุในช่วงศตวรรษที่ 21 – 22 เช่น เศษภาชนะดินเผาจากเตาสันกำแพง และเตาเวียงกาหลงถูกขัดสีจนสึกกร่อน และขอบมนทับถมรวมกันอยู่ในชั้นตะกอนทราย ที่แสดงว่าการเกิดน้ำท่วมซึ่งพัดพาตะกอนทรายและโบราณวัตถุมาทับถม น่าจะเกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 หรือหลังจากนั้น

C360_2013-11-06-17-07-58-787

C360_2013-11-06-17-13-39-440

และเมื่อพิจารณาจากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมวัดนี้ น่าจะมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 – 22 การพบจารึกอักษรฝักขามและอักษรธรรมล้านนา เป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าวัดนี้มีการดำรงอยู่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว