ถ้าให้จิ้มเลือกในความพิเศษของวัดในเชียงใหม่ วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ย่อมติดอันดับมาด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะในวัดแห่งนี้มีสถานที่สำคัญหลายอย่าง อีกทั้งภายในวัดยังร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใบหญ้า ที่ใครเข้ามาแล้วล้วนรู้สึกสงบจิตสงบใจกันแทบทั้งสิ้น
วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในซอยหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งถ้าขับรถมาตามถนนสุเทพเลยสี่แยกตลาดต้นพะยอมมา พยายามสังเกตด้านซ้ายมือ พอถึงร้านชุติภรณ์ผัดไทยต้มยำเลยมาซักหน่อย มันจะมีซอยให้เลี้ยวเข้าไป จากนั้นก็ขับยาวๆ ไปจนถึงวัดเลยครับ (ถ้าไม่แน่ใจถามชาวบ้านแถวนั้นอีกทีก็ได้)
ตามประวัติเล่าว่า วัดอุโมงค์สร้างขึ้นในสมัยพญามังรายราว ปี พ.ศ. 1839 เพื่อให้ฝ่ายอรัญวาสีจำพรรษา ต่อมาพญากือนา ทรงสร้างอุโมงค์ขึ้นเพื่อให้พระมหาเถระจันทร์ใช้เป็นที่วิปัสสนากรรมฐาน อุโมงค์นี้มีลักษณะเป็นกำแพงภายในเป็นทางเดินหลายช่องทะลุกันได้ ภายในอุโมงค์เคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง สันนิษฐานว่าวาดในระหว่าง พ.ศ.1900-2000 แต่เดิมคงเป็นภาพจิตรกรรมเต็มบริเวณของทุกห้อง ส่วนใหญ่เป็นภาพดอกบัว ดอกโบตั๋น และ นกต่างๆ เช่น นกยูง นกกระสา นกแก้ว และนกเป็ดน้ำ
นอกจากอุโมงค์แล้ว ภายในวัดยังมีศาสนสถานสำคัญอีก เป็นเสาหินอโศกจำลอง ซึ่งจริง ๆ แล้วอยู่ที่ประเทศอินเดีย โดยสาเหตุที่ได้ชื่อว่าเสาหินอโศกก็เพราะว่า พระเจ้าอโศกมหาราชผู้ครองอาณาจักรอันกว้างใหญ่ในสมัยของพระองค์เป็นผู้สร้างขึ้นมา มีอยู่ทั้งหมด 48 ต้น แต่ละต้นก็จะจารึกหลักธรรมคำสอนของพระองค์แก่อาณาประชาราษฎร์ ชมพูทวีปในครั้งนั้นจึงถือว่าเป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง เพราะมีมหากษัตริย์ทรงทศพิศราชธรรม
ส่วนเสาหินอโศกจำลองที่เห็นอยู่ในภาพนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาในอดีต และทำให้เราได้รำลึกถึงพระราชเกียรติของพระเจ้าอโศกมหาราช จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่
อีกหนึ่งสถานที่ เป็นพระเจดีย์ 700 ปี เป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม มีอิทธิพลจากศิลปะพม่าแบบพุกาม ต่อมาได้มีการบูรณะในสมัยพระเมืองแก้ว มีลักษณะระเบียบของฐานในผังกลม 3 ฐานซ้อนลดหลั่น เป็นชุดฐานรองรับทรงระฆังใหญ่ ต่อขึ้นไปคือบัลลังก์สี่เหลี่ยม ส่วนยอดที่ทรงกรวยประกอบด้วยส่วนสำคัญที่ทางภาคกลางเรียกว่า ปล้องไฉน และปลี ที่ท้องไม้ของบานกลมแต่ละฐานประดับด้วยแถวช่องสี่เหลี่ยมไว้โดยรอบงานประดับ รวมทั้งขนาดที่ใหญ่ของทรงระฆังเกี่ยวข้องกับแบบแผนของเจดีย์แบบหนึ่งของพุกาม ซึ่งสร้างเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่18
สำหรับศาสนสถานสำคัญอื่นๆ ที่เหลือก็จะมีหลักศิลาจารึก บันไดขึ้นไปเจดีย์ เศียรพญานาค รูปพระโพธิสัตว์ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง โรงภาพปริศนาธรรม หอสมุดธรรมโฆษณ์ พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติฯ และสำนักงานสวนพุทธธรรม
ถือว่าวัดแห่งนี้ควรค่าเหมาะแก่การศีกษา และมาเที่ยว ทำบุญ เป็นอย่างยิ่งครับ