วัดอู่ทรายคำ ผมแวะมาวัดแห่งนี้เพราะป้าย “เชิญนมัสการพระสิงห์หยก วัดอู่ทรายคำ” ล้วนๆ
ที่มาที่ไปของเรื่องก็คือ มันแปะโชว์ไว้ตรงปากซอยเลยโรงแรมอโมร่า ท่าแพมานิดนึง เท่านั้นยังไม่พอ ทั้งตรงปากประตูวัด หรือแม้รกะทั่งข้างวิหาร ก็ยังมีติดบอก ซึ่งนั่นพอจะเดาออกได้ว่า “พระสิงห์หยก” คงจะมีความสำคัญในวัดแห่งนี้
พระพุทธสิหิงค์หยก หรือเรียกสั้นๆ ว่า “พระสิงห์หยก” วัดอู่ทรายคำ เป็นพระพุทธรูปที่ทำจากเนื้อหยกธรรมชาติแท้ Jadeite เจดส์ได ประเภท CommercialJade (คอมเมสเชียลเจดส์) มีหลากหลายสีอยู่ในองค์พระ เช่น สีเทาอมฟ้า, สีม่วง ที่ไหล่ซ้าย สีเขียวพระหัตถ์ซ้ายผ่านหน้าอก ทะลุลงบัลลังค์ และมีสีขาว เล็ก ๆ เป็นจุด ๆ ที่เข่าซ้าย ความแข็งระดับ 7 ถือว่ามีสีลักษณะครบตามที่คนจีนเรียกว่า ฮก ลก ซิว นับว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง แหล่งกำเนิดที่ผากั้น รัฐคะฉิ่น ตอนเหนือของพม่า แล้วนำมาประมูลขายที่เมืองมัณฑเลย์ ประเทศพม่า
ลักษณะโดยทั่วไปของพระหยก เป็นปางมารวิชัย ศิลปะล้านนาแบบสิงห์ 1 ขนาดหน้าตักกว้าง 29 นิ้ว สูง 41 นิ้ว น้ำหนัก 900 กิโลกรัม ก่อนแกะ 2,572 กิโลกรัม นับว่าเป็นพระหยกธรรมชาติ( Jadeite เจดส์ได) หยกพม่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหารกรุงเทพฯ ได้ประธานพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในผอบทองคำไว้ในพระเศียร และทรงตั้งพระนามให้เพื่อเป็นมิ่งขวัญของพุทธศาสนิกชนชาวเชียงใหม่ และพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วโลก
ส่วนประวัติของวัดอู่ทรายคำนั้น สร้างโดย อุบาสิกา อุปคำ ซึ่งอพยพมาจาก เมืองเชียงแสน (เชียงราย) อันเนื่องมาจากสงคราม ก่อนจะมามาตั้งบ้านเรือนบริเวณนี้ และได้พร้อมใจกันสร้างวัดขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความศรัทธา ในบวรพระพุทธศาสนา และถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระบรมศาสดา ด้วยความเคารพยิ่ง
ศาสนสถานอื่นๆ นอกเหนือจากพระสิงห์หยกที่ได้กล่าวไป ในวัดแห่งนี้ก็ยังมีอีกหลายอย่างดังต่อไปนี้ครับ
อุโบสถ เป็นแบบจตุรมุขภายนอกมีรูปปูนสังข์ทองเป็นที่ชื่นชมชาวต่างประเทศมากซึ่งบูรณะครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2530 ทรงจตุรมุขและรูปปูนอย่างนี้มีแห่งเดียวในจังหวัด เชียงใหม่
พระเจดีย์ แรกเริ่มคงสร้างไม่ใหญ่เท่าไหร่ต่อมา มีการสร้างครอบครององค์เดิมให้ใหญ่ กว่าเดิมได้ตกแต่งวิจิตรสวยงามดังปัจจุบัน
พระพุทธรูปปูนปั้น พระประธานในพระวิหารขนาดสูง 2.62 เมตร กว้าง 2.22 เมตร
พระพุทธรูปปางมารวิชัย ตามตำนานเล่ากันว่า นายช่างไปวาดภาพจำลองพระพุทธรูปเก้าตือ วัดสวนดอก มาก่อสร้างพระประธานแห่งนี้ให้เหมือนของเดิมและงดงามน่าเลื่อมใส ใครได้นมัสการแล้วเกิดความสบายใจ และเป็นสิริมงคลแก่ตนเองด้วย
หอไตร ศิลปกรรมทรงแบบล้านนาไทย คนเมืองเรียกว่า “ประสาทหลังก๋าย” สวยงามมากไม่ซ้ำแบบใครในเมืองเชียงใหม่ และได้บูรณะให้อยู่ในสภาพเดิม พ.ศ. 2533 ของเดิมซึ่งมีอายุร่วมร้อยปี
ธรรมมาสน์ ก็เป็นอีกชิ้นหนึ่งที่เป็นของเก่าแก่อยู่ในอาวาสแห่งนี้ ได้บูรณะให้อยู่ในสภาพเดิม พ.ศ. 2533 และยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน
นอกจากความสวยงามของสถาปัตยกรรมหลายอย่างในวัดแล้ว ความสำคัญของวัดแห่งนี้ยังเป็นปูชนียสถาน ศูนย์กลางการศึกษาภาษาบาลี พระธรรมวินัย ขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวเชียงใหม่ในอดีตมานานกว่า 200 ปี เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียน อักขระพื้นเมืองในอดีต และอบรมกุลบุตรสืบต่อกันมานาน ไม่เคยรกร้างว่างเปล่าเลยหลัง พ.ศ. 2414