ผมเคยนึกสงสัยนะว่า ตัวเองมาเที่ยววัดถ่ายภาพ เขียนรีวิวแบบนี้ เป็นร้อยๆ ที่ ตายไปจะได้ผลบุญจากสิ่งที่ตัวเองทำตอนยังมีชีวิตรึเปล่า
ตามที่เข้าใจ ที่ทำไปทุกวันนี้ก็เป็นงานหาเลี้ยงชีพตัวเอง เรื่องผลบุญจากสิ่งที่ทำอยู่ไมได้หวังพึ่ง หรือคิดจะได้ หรือถ้าจะได้ อันนั้นคงเป็นผลพลอยได้กันไป
ก็นั่นล่ะฮะ ท่านผู้ชม สงสัยไปเรื่อยเปื่อยตามประสาผม มาเข้าเรื่องกันดีกว่า รีวิวนี้จะพาไปรู้จักกับวัดแสงโชตนา หรืออีกชื่อคือ วัดนาบุก ที่ตั้งอยู่หมู่ 10 บ้านนาบุก ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ถ้าขับมาจากในเมืองตามถนนเส้นเลียบคนคลองชลประธานมุ่งหน้ามายัง อ. หางดง เลยจากสี่แยกหนองควาย มาซักหน่อย ขับมาเรื่อย จะมีซอยเข้าวัดอยู่ทางด้านฝั่งซ้ายมือ หากันได้ไม่ยากครับ แล้วก็ขับมาตามป้ายในซอยซักหน่อยก็เป็นอันว่าถึง
วัดแสงโชตนา ตามประวัติบอกว่า นางแสงด้าย โชตนา ได้ถวายที่ดินสร้างวัด และได้เป็นประธานในการสร้างวัดร่วมกับศรัทธาชาวบ้าน ก่อนต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศสร้างเป็นวัด เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2531 ชาวบ้านเรียกว่า วัดแสงโชตนา อันเป็นวัดขนาดเล็กที่ดำเนินตามหลักพระพุทธศาสนาตามแบบฉบับดั้งเดิม
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดคือ พระวิหารรูปแบบล้านนา เป็นวิหารปิด ที่มีการสร้างผนังด้านข้างทั้งสี่ด้าน มีหน้าต่าง และช่องแสงโดยรอบทุกด้าน บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง หรือฉลุลายปิดทองบริเวณผนังด้านหลังของพระประธาน ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการยกเก็จของผัง ภายในวิหารแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ พื้นที่ของพระสงฆ์ พื้นที่ของฆราวาส และฐานชุกชี หรือแท่นแก้ว พื้นที่ด้านในสุดของวิหาร ใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นประธานของวัด ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสามชั้น ด้านหลังสองชั้น สัมพันธ์กับการยกเก็จของผัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด (หลังคาแผ่นไม้)
อุโบสถเป็นอุโบสถหลังขนาดเล็ก อาคารที่พระสงฆ์ใช้ประชุมสังฆกรรมร่วมกัน ซึ่งการทำสังฆกรรมที่สำคัญที่สุด ได้แก่การทำสังฆกรรม บวช ในวัฒนธรรมล้านนา แบบอย่างของวิหารและโบสถ์มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่โบสถ์จะมีใบสีมา เป็นเครื่องหมายเขตบริสุทธิ์ล้อมรอบอาคารที่เป็นตัวโบสถ์อีกชั้นหนึ่ง โดยจะกำหนดบริเวณทิศทั้ง 8 และฝังไว้ตรงกลาง รวมทั้งหมด 9 แห่ง
ส่งท้ายด้วยเจดีย์ ที่อยู่บริเวณด้านหลังพระวิหาร เป็นเจดีย์แบบล้านนา ที่รับเอาอิทธิพลแบบอย่างจากวัฒนธรรมอื่นๆเช่น สุโขทัย พุกาม มาผสมผสานกันพัฒนาจนเป็นรูปทรงใหม่ที่ลงตัวและใช้กันแพร่หลาย พระเจดีย์แบบล้านนานี้เป็นเจดีย์ทรงกลมเป็นฐานสูงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ เน้นชั้นมาลัยเถาที่ขยายใหญ่ขึ้น ยกสูงขึ้น องค์ระฆังถูกลดความสำคัญลงจนเหลือขนาดเล็ก มีบัวรัดรอบองค์ระฆังตามแบบพุกาม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม