ศาลเจ้ากวนอู (บูเบี้ย)

C360_2013-10-07-10-24-28-607

ไปกาดหลวงก็บ่อยนะครับ แต่ก็ไม่ได้สังเกตว่าแถวนั้นมีศาลเจ้ากวนอูตั้งอยู่ ซึ่งกว่าจะรู้ว่ามีศาล ก็มากระจ่างเอาจริงๆ ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา เพราะบรรยากาศแถวนั้นค่อนข้างจะคึกคัก เนื่องด้วยมีการจัดงานอย่างเอิกเกริกใหญ่โต

คราวที่แล้วมาแบบเวลาจำกัดจำเขี่ย ทำให้ไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก ล่าสุดมีโอกาสแวะไปอีกรอบ เลยเอาภาพมาฝากกันพร้อมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับศาลเจ้ากวนอู

C360_2013-10-07-10-24-06-953

จากประวัติของศาลเจ้าไม่มีผู้ใดบันทึกไว้ แต่จากการเล่าสืบต่อกันมา บอกว่าชาวจีนที่ก่อตั้งศาลบู้เบี้ยเป็นพวกอั้งยี่ ซึ่งย่อมจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในศิลปะการต่อสู้ หรือวิทยายุทธอยู่บ้างจึงเป็นที่รู้จัก และสันนิษฐานว่าอั้งยี่น่าจะอพยพมาจากกรุงเทพฯ

บทบาทของอั้งยี่ที่ก่อตั้งศาลเจ้าเป็นไปในลักษณะกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น คล้ายกับกลุ่มอิทธิพลของจีนเต็งที่มีอิทธิพลต่อแรงงานคนจีนในเมืองเชียงใหม่ กล่าวคือสามารถควบคุมสั่งการแรงงานเหล่านั้นได้ ในระยะที่การขนส่งสินค้าระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ยังอาศัยทางรถไฟเพียงทางเดียว อั้งยี่กลุ่มนี้ก็ควบคุมแรงงานคนจีนที่สถานีรถไฟ ทั้งยังมีกิจการที่เกี่ยวพันกับอำนาจ อิทธิพล

C360_2013-10-07-10-30-12-884

ศาลเจ้าบู้เบี้ย ปัจจุบันรู้จักในชื่อของ ศาลเจ้ากวนอู ตั้งอยู่ในตลาดข่วงเมรุ หรือตรอกเหล่าโจ๊ว ทางด้านทิศตะวันตกของตลาดวโรรส ศาลเจ้าแห่งนี้ป้ายบอกอายุศาลเจ้าไม่น้อยกว่า 120 ปี แต่คาดว่าอายุไม่น่าจะถึง เพราะจากการคำนวณโดยยึดหลักจากการพิราลัยของเจ้าอินทวิชยานนท์ ในปี พ.ศ.2440 แต่ศาลเจ้าแห่งนี้กลับสร้างก่อนซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะการสร้างพระป้ายนั้น สร้างเพื่อกราบไหว้ผู้ล่วงลับไปแล้ว

C360_2013-10-07-10-29-07-071

ศาลเจ้าแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจในรูปแบบศิลปกรรมต่างๆ ทั้งยังเป็นสถานที่ที่ชาวจีนกราบไหว้สักการะ ดังนั้นจึงควรจะมีแต่สถาปัตยกรรมลวดลายศิลปกรรมศาลเจ้า หรือประติมากรรมเทพเจ้าจีน แต่ก็พบว่ามีศาลของเจ้าหลวงเชียงใหม่และแม่เจ้าทิพเกสร ซึ่งมีพระนามของท่านสลักเอาไว้ทั้งภาษาจีนและตัวอักษรธรรมล้านนา ซึ่งน่าจะเป็นศาลเจ้าจีนที่ชาวจีนสร้างให้กับเจ้าหลวงเป็นศาลเจ้าประจำตระกูล เพราะคนจีนที่เมืองจีนมีการสร้างศาลเจ้าประจำตระกูล ศาลเจ้าประจำตระกูลของกษัตริย์ก็มีเช่นกัน

C360_2013-10-07-10-28-43-918

จากการศึกษาจากประวัติศาสตร์สังคมจีนในไทย เทพเจ้ากวนอูเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของสมาคมที่มีการค้าฝิ่น และอย่างอื่น ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าศาลเจ้ากวนอูมีสมาคมดนตรีจีนอยู่ด้วย จากหลักฐานคำบอกเล่าบอกว่าคนสร้างศาลเจ้าจีน เป็นคนจีนที่อพยพขึ้นมาเป็นพวกอั้งยี่ ซึ่งสมาคมลับของจีน คือพวกอั้งยี่มีการจัดโครงสร้างหัวหน้า อาวุโสต่างๆ ดื่มเลือดสาบาน อุทิศตนให้แก่ภราดรภาพ และรักษาความลับของสมาคม โดยมีพิธีกรรมและสัญลักษณ์ทางศาสนากวนอู

C360_2013-10-07-10-25-52-036

ถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มอิทธิพลอั้งยี่ แต่กลุ่มนี้ก็ได้แสดงถึงความจงรักภักดีต่อเจ้าหลวงในการสร้างศาลเจ้าหลวง เพราะการเข้ามาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่มีแต่ความสะดวกสบายทางการค้าขาย และชาวจีนได้รับความยุติธรรมกับสิทธิพิเศษต่างๆ จากเจ้าหลวงเป็นอย่างดี อีกทั้งชาวจีนได้ยกเจ้าหลวงของเชียงใหม่ว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นเทพของชาวจีน ซึ่งแสดงถึงการยอมรับ เข้ามาพึ่งพระบารมีของเจ้าหลวงเชียงใหม่ จึงได้มีพระป้ายและศาลเจ้าหลวงให้เคารพบูชาคล้ายกับที่กรุงเทพฯ ที่รัชกาลที่ 4 มีคติการสร้างพระป้ายให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า

DSC_0001

หลังจากรัชกาลที่ 4 สวรรคต รัชกาลที่ 5 ก็ทรงสร้างพระป้ายให้เพื่อแสดงความเป็นกษัตริย์และเทพของชาวจีน และชาวจีนมีการตั้งโต๊ะบูชาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินผ่านย่านสำเพ็ง ซึ่งในปัจจุบัน คนจีนที่เยาวราชก็มีซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ให้กับรัชกาลองค์ปัจจุบันอีกด้วย