ต่อให้เทคโนโลยีในวงการแท็บเล็ตจะล้ำหน้าไปซักแค่ไหน แต่สุดท้ายหลายคนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “หนังสือ” ยังมีเสน่ห์กว่า “อีบุ๊กส์” ในหลายๆ ด้าน
แน่ล่ะ เทียบกันดอกต่อดอก ในเรื่องความสะดวกสบาย จะหยิบอ่านตอนไหนก็ง่าย แบบไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ คือข้อได้เปรียบของหนังสือ แถมยังหาซื้อได้ง่ายอีกต่างหาก ต่างจาก “อีบุ๊กส์” ที่คนอ่านต้องมีแท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนกันเท่านั้น ถึงจะมีปัญญาเปิด หนำซ้ำ ใช่ว่าอีบุ๊กส์ทุกประเภท จะมีให้โหลดให้ซื้อกันหมดซะทุกแบบ ของแบบนี้มีให้อ่านเฉพาะเล่มที่น่าสนใจเท่านั้น เล่มไหนคนทำเห็นว่าคุ้มทุน ก็จัดการทำมาให้โหลดขาย
ข้อดีอย่างเดียวของ “อีบุ๊กส์” คือการจัดเก็บง่ายสะดวก ใครบ้านน้ำท่วมบ่อยคงกระหยิ่มกระหยองในใจ ว่าไม่ต้องรีบหอบหนังสือสุดที่รักหนีน้องน้ำ แค่เก็บไว้ในแท็บเล็ตตัวเอง หรือคอมพิวเตอร์ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย หายห่วง
จากการประมวลผลคร่าวๆ ก็พอจะทำให้ทราบว่า “หนังสือ” ยังคงมีอิทธิพลต่อมนุษย์มากกว่า “อีบุ๊กส์” ที่เพิ่งถูกพัฒนาในยุด 3G ซึ่งอย่างน้อยๆ ข้อได้เปรียบหลายๆ อย่าง ก็พอจะทำให้คนส่วนมากยังคงติดใจในการอ่าน “หนังสือ” และยังคงไม่ละทิ้งมันไปซะทีเดียว แม้ว่าหลายๆ สนพ. ความอยู่รอดจะอยู่ในระดับหายใจรวยรินก็ตาม
จะพูดไปแล้ว คนที่รักใคร่ “หนังสือ“ มากกว่า “อีบุ๊กส์” เหมือนๆ อย่างผม อายุคงอยู่ในวัยที่น่าจะเลยเบญจเพสขึ้นไปอารมณ์คงประมาณ คนแก่ชอบแต่ของเก่า แนวๆ นั้น
บางคนบอกว่าของเก่ามัน “คลาสสิค” เลยด้วยซ้ำ…
อันนี้เห็นด้วยหรือไม่ ไม่อาจรู้ แต่น่าจะขึ้นอยู่กับคุณค่าทางจิตใจกับสิ่งของชิ้นนั้นมากกว่า อย่างหนังสือเก่าบางเล่มที่เรารักมาก แม้ว่ามันจะพิมพ์ตั้งแต่สมัยมะโว้ จนสีกระดาษซีด ปลวกแทะไปบางส่วน แต่เมื่อพูดถึงเนื้อในที่ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าสาระ และความบันเทิง เราก็คงยากที่จะทำใจไม่ให้รักมันอยู่ดี
นี่คือมุมของคนที่เห็นคุณค่าหนังสือ มากกว่ากองกระดาษเก่าๆ ชั่งกิโลขายได้ไม่กี่บาท
ศูนย์หนังสือเก่า ชั้นสอง ของกาดธานินท์ ถือเป็นอีกสถานที่แห่งหนึ่งที่รวบรวมหนังสือเก่าหลากหลายประเภท ไว้ให้หนอนหนังสือไปขุดคุ้ยค้นหาซื้อมาอ่าน
นวนิยาย เรื่องสั้น ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา ศาสนา บริหารธุรกิจ ศิลปะ วิทยาศาสตร์ สุขภาพ ภาษา การเกษตร เทคโนโลยี ดนตรี ฯลฯ คือความหลากหลายในด้านเนื้อหาที่ถูกนำมาวางขายทั้งเก่าและใหม่
หนอนหนังสือที่ไม่แยแสกับรูปลักษณ์ภายนอก ที่ไม่ว่าจะเก่าซักแค่ไหน แต่ถ้ามันยังอ่านได้สะดวก ลองแวะไปหาอาหารสมองมาเติมกันได้ทุกวัน หรือใครจะขนหนังสือเก่าที่บ้านมาขาย หลังจากไม่ได้อ่านอีก ก็เชิญเลยตามสะดวก
จะเก่าใหม่ไม่สำคัญ แก่นแท้นั้นอยู่ที่เนื้อหา…