จริงๆ แล้วเวลาไปเที่ยวดอยที่ไหน ผมชอบไปเที่ยวพวกสวนดอกไม้ หรือแปลงเกษตรพืชผักเมืองหนาวนะ เพราะมันให้อารมณ์ในทำนองว่าเรามาเที่ยวดอยกันจริงๆ
แน่ล่ะ มาดอยแล้วไม่ได้ชมพืชผักเมืองหนาว และดอกไม้ มันก็ยังไงๆ กันอยู่?
หลังจากตระเวนไปเที่ยวมาแล้วหลายที่ คราวนี้ก็มาถึงคิวของ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ท่ามกลางการถูกโอบล้อมด้วยบ้านของชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง และเผ่าม้ง
สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ เป็นสถานีวิจัยอีกแห่งหนึ่งของมูลนิธิโครงการหลวง ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะช่วยเหลือชาวไทยภูเขาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถปลูกพืชที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้ ทำให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักแหล่ง เลิกปลูกฝิ่น เลิกตัดไม้ทำลายป่า เลิกทำไร่เลื่อนลอย หันมาปลูกพืชเมืองหนาวและเลี้ยงสัตว์ด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ สมดังพระราชประสงค์ที่จะช่วยชาวไทยภูเขาให้ช่วยตัวเองได้
โดยพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือชาวเขาเหล่านั้นให้มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง และได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ทางด้านการเกษตรแผนใหม่ ปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ด้วยการหันมาทำการเกษตรแบบถาวร อันเป็นที่มาของการจัดตั้ง “สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์” ในปี พ.ศ.2522 ณ บริเวณบ้านขุนกลาง เพื่อเป็นสถานีวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงอีกแห่งหนึ่ง ดำเนินงานวิจัยด้านไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผัก และไม้ผล รวมทั้งถ่ายทอดผลงานวิจัยไปสู่การส่งเสริมให้เป็นรายได้ของครอบครัวเกษตรกรทั้งชาวกะเหรี่ยง และม้งในหมู่บ้านรอบๆ สถานีฯ พร้อมกับการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานพัฒนาด้านสังคมและการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารและโปรดให้เป็น “สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์” ในปี พ.ศ.2550
ทั้งนี้ พื้นที่ดำเนินงานของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ มีพื้นที่ดำเนินงานทั้งหมด 4 แห่ง คือ สถานีหลักบ้านขุนกลาง จำนวน 89.5 ไร่ หน่วยขุนห้วยแห้ง จำนวน 193 ไร่ หน่วยแม่ยะน้อย จำนวน 110 ไร่ หน่วยผาตั้ง จำนวน 120.5 ไร่
สำหรับสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ในส่วนที่ผมเดินสำรวจดูนั้น (ดูไม่หมดครับ เพราะเยอะมาก) มีด้วยกันดังนี้
โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงเฟิน แหล่งรวบรวมเฟินหายากและใกล้สูญพันธุ์ทั้งของไทยและจากต่างประเทศไว้ไม่น้อยกว่า 50 สกุล 200 กว่าชนิด จัดแสดงรูปแบบของงานภูมิทัศน์ภายในโรงเรือนและปลูกตกแต่งตามระบบนิเวศของเฟินแต่ละชนิด ทั้งเฟินน้ำ, เฟินดิน และเฟินอิงอาศัย
โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงพืชกินสัตว์ ได้รวบรวมพันธุ์พืชกินสัตว์ไว้หลายสกุลด้วยกัน โดยเฉพาะพืชกินสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมบนที่สูง เช่น สกุลหม้อข้าวหม้อแกงลิง, ซาราซีเนีย, หยาดน้ำค้าง, ฮีเลี่ยมเฟอร่า, กระเป๋าจิงโจ้, กาบหอยแครงหรือกับดักแมลงวันของวีนัส (Venus’s fly trap)
โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงไม้ดอกไม้ประดับ รวบรวมและจัดแสดงไม้ดอกไม้ประดับของมูลนิธิโครงการหลวง อาทิเช่น กล้วยไม้รองเท้านารี, ฟิวเชีย, บีโกเนีย, ไฮเดรนเยีย, หน้าวัว, เปปเปอร์โรเมีย
ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่น่าสนใจในสถานีก็จะมี โรงเรือนเพาะกล้าพืชผัก โรงเรือนผลิตผักสลัดในสารละลาย (Hydroponics) โรงเรือนผลิตไม้กระถาง งานวิจัยและเพาะเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ งานวิจัยและส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงในนาข้าว รวมทั้งสองส่วนใหญ่หลักของที่นี้คือ งานวิจัย และงานพัฒนาส่งเสริมอาชีพ
นับได้ว่าสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ นอกจากเราเพลิดเพลินไปกับพืชผักและไม้ดอกเมืองหนาวแล้ว ที่นี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่ช่วยพัฒนาในด้านการเกษตรให้แก่ชาวบ้านที่นี้ด้วย