สถูปขุนหลวงวิลังคะ

DSCF6956

ไม่น่าเชื่อว่ากลางป่าเขาลำเนาไพรใน ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จะเป็นมีสถานที่แห่งนึง ที่เป็นสถานที่สำคัญของบุคคลในประวัติศาสตร์ ที่ส่วนใหญ่แล้วคนนอกพื้นที่มักจะไม่ค่อยรู้จักกัน โดยบุคคลที่ผมกำลังเอ่ยถึงนั้น คือ “ขุนหลวงวิลังคะ”

เหตุที่ต้องมาบอกเล่าเกี่ยวกับ “ขุนหลวงวิลังคะ” ก็เนื่องจากตัวเองมีโอกาสได้มาสักการะสถูปขุนหลวงวิลังคะ ที่บ้านเมืองก๊ะ ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ บริเวณหน้าวัดเมืองก๊ะ ในช่วงเย็นของวันหนึ่ง

DSCF6959

“ขุนหลวงวิลังคะ” ท่านเป็นกษัตรย์ชาวลัวะองค์ที่ 13 ของระมิงค์นครในราชวงศ์กุนาระ เมื่อราวต้นพุทธศักราช 1200 ทรงมีอิทธิฤทธิ์ มีฝีมือในการพุ่งหอกเสน้า (สะ-เน่า) เป็นที่เลื่องลือ สิ้นพระชนม์ด้วยความตรอมใจเมื่อพุทธศักราช 1227 เพราะไม่สมหวังในความรักจากพระนางจามเทวีที่ปกครองนครหริภุญชัยในสมัยเดียวกัน

จากตำนานนั้นเล่าว่า 'ขุนหลวงวิลังคะ' เจ้าแห่งชาวลัวะที่มีวิชาอาคมที่แกร่งกล้า ซึ่งก่อนหน้านั้น 'เจ้าพ่อเม็งราย' ทรงยกทัพไปปราบ และได้ขับไล่ให้ขึ้นไปอยู่บนดอยสูงขนาดว่าไม่ให้ได้ยินเสียงกบเสียงเขียด ขุนหลวงวิลังคะได้เกิดจิตจำนงค์จนถึงกินไม่ได้นอนไม่หลับ เมื่อได้ยินกิตติศัพท์ของพระนางจามเทวีในด้านความเฉลียวฉลาดและมีสิริโฉมอันงดงาม ถึงกับได้ยกทัพมาตีเมืองหริภุญชัย โดยที่ขุนหลวงวิลังคะไม่ได้ต้องการที่จะแย่งชิงครองนครหิริภุญชัย เพียงแต่อยากได้พระนางจามเทวีไปครอง

DSCF6960

พอพระนางจามเทวีทราบเรื่อง จึงทรงใช้เล่ห์เพทุบายหลอกล่อขุนลัวะ และกำหนดวันทำพิธีอภิเษกสมรส ขุนหลวงวิลังคะถึงกับดีใจเฝ้าอมยิ้มนั่งรอวันรอคืน ในขณะนั้นเอง พระเจ้าแม่จามเทวีทรงส่งมาลาที่เย็บด้วยชายกระโปรง, ชายผ้าซิ่นที่ใส่พระโลหิตระดูของพระนางมาให้ว่าที่พระสวามีสวมใส่ ส่วนขุนหลวงวิลังคะก็ดีใจยิ่งนักเฝ้าแต่อมยิ้มรอวันที่จะได้เชยชมภิรมย์รักกับพระนางจามเทวี

DSCF6958

ครั้นเมื่อใกล้กำหนดเวลาจึงได้เดินทางไปนครหริภุญชัย เมื่อใกล้ถึงวันนัดเหล่าหมู่อามาตย์ ราชบริพาร และประชาชน ต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าเวลามันได้ล่วงเลยสองเดือนแล้ว ขุนหลวงจึงกล่าวว่าถึงแม้ตนจะเป็นชาวป่าชาวดอย แต่ก็ยังรู้อาทิตย์ขึ้นอาทิตย์ลง ดังขุนหลวงวิลังคะกล่าวว่า "กูนั่งดูพระอาทิตย์ขึ้น ลง อยู่นั้นได้ 15 หน ตามกำหนดพอดี" แต่ชาวเมืองก็ยืนกรานเป็นเสียงเดียวกันว่าเวลาได้ล่วงเลยไปแล้ว ทำให้ขุนหลวงวิลังคะโกรธแค้นเป็นอย่างยิ่งเมื่อโดนกลอุบายของพระแม่เจ้า และด้วยความไม่รู้เท่าทัน จึงเมื่อได้กลับค่ายพักได้นำ 'เสน่า' พุ่งใส่เมืองหริภุญชัย แต่ด้วยอาคมของขุนหลวงวิลังคะได้เสื่อมลง เสน่าจึงไปตกก่อนถึงกำแพงเมือง กลายเป็นหนองน้ำมาจนถึงทุกวันนี้ เรียกว่า 'หนองเสน่า' และด้วยทั้งรักและทั้งแค้น ขุนหลวงวิลังคะจึงได้อาเจียนเป็นโลหิตสิ้นลมหายใจ โดยที่ก่อนตายขุนหลวงวิลังคะได้สั่งให้พลลัวะนำร่างตนไปฝังยังดอย 'อชบรรพต' (ดอยสุเทพ) เป็นที่ซึ่งจะได้เห็นทัศนียภาพของเมือหริภุญชัยได้ทั้งพระนคร แต่พลลัวะก็พยายามที่จะช่วยกันหามโลงศพกลับคืนไปดอยลัวะให้ได้ ซึ่งเมื่อได้เดินทางผ่านเขาลูกดังกล่าว ร่างของขุนหลวงวิลังคะก็หลุดร่วงกลิ้งลงคว่ำหน้าตรงที่สั่งให้ฝังศพพอดี พลลัวะจึงจำใจต้องฝังร่างของขุนหลวงวิลังคะไว้ดอยลูกนั้น และเรียกว่า 'ดอยคว่ำล่อง'

DSCF6955

สำหรับสถูปขุนหลวงวิลังคะนั้น ในแต่ละปีจะมีพิธีกรรมเลี้ยงขุนหลวง โดยชาวบ้านเชื่อว่าจะทำให้พืชผลดี ฟ้าฝน อุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้ พิธีกรรมจะจัดเป็นประจำทุกปีในเดือน 9 เมือง ที่ตรงกับเดือนมิถุนายน โดยเลือกวันก่อนที่จะลงสวน ทำไร่นา ให้เป็นผลตามความเชื่อ และต้องไม่ใช่วันศีล (วันพระ) ไม่ใช่วันเสีย ไม่ใช่วันอาทิตย์ ไม่ใช่วันจันทร์ และไม่ใช่วันพุธ