หลังจากพาตะลุยไปแบบเรื่อยเปื่อยดูตัวอาคารหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่แล้ว ผมจะพามาเจาะลึกถึงห้องจัดแสดงภายในตัวอาคารหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ที่น่าดูและน่าสนใจที่สุด
จากทั้งหมด 15 ห้อง และ 2 ชั้น ของอาคารหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ห้องที่ถูกใจและน่าชมที่สุดคือห้องจัดแสดง “คนในเวียง”
เหตุผลชนะเลิศ เพราะห้องนี้ทำการจำลอง โดยการหยิบยกเอาวิถีชีวิตในสมัยก่อนของคนในเวียงมาให้ดู ประมาณว่าถ้าอยากรู้ว่าคนสมัยนั้นใช้ชีวิตกันยังไง ให้มาดูที่นี้เลย เห็นภาพได้อย่างชัดเจน
อย่างก้าวแรกที่เข้ามาในห้องนี้ จะเห็นวิถีชีวิตของคนต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในเมืองเชียงใหม่ อย่างการจำลองบ้านของชาวต่างชาติที่เข้ามาสอนศาสนาในเมืองเชียงใหม่ การจัดแสดงร้านค้าของคนชาติต่างที่เข้ามาค้าขายในเชียงใหม่ การจำลองชุมชนช่างเครื่องเงินซึ่งปัจจุบันได้มีการตั้งชุมชนนี้แถวถนนวัวลาย อันเป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงมากในการทำเครื่องเงิน จนถึงขั้นมีการสร้างอุโบสถเงินหลังแรกของโลก ที่วัดศรีสุพรรณมีหุ่นจำลองแสดงการละเล่นพื้นบ้านทางภาคเหนือ คือ การเล่นชนกว่าง ที่นับได้ว่าเป็นที่นิยมไม่น้อยกว่าการชนไก่ กัดปลา ชนวัว หรือวิ่งควาย ของภาคอื่น ๆ
ถัดมาหน่อยเป็นการจัดแสดงบ้านแบบล้านนาในอดีตโดยในห้องจัดแสดงทำการยกพื้นบ้านขึ้นด้านนอกเป็นชานเรือน มีรูปปั้นคนจำลองนั่งอยู่ข้างนอก มีเครื่องเขินที่เอาไว้ใส่ "บุหรี่ขี้โย้" (เครื่องเขินเอาไว้ใส่อย่างอื่นด้วย) ยาเส้นสายพันธุ์พื้นเมือง มวนด้วยใบตองอ่อนตากแห้ง เอาไว้ต้อนรับแขกผู้มาเยือนให้เชิญอมเมี่ยงสูบขี้โย้
ขยับจากตรงนั้นมาจะเป็นห้องนอนในสมัยก่อน ที่เห็นแว่บแรกรู้เลยว่าอยู่กันอย่างเรียบง่าย ฝั่งตรงข้ามห้องนอนเป็นห้องครัว มีหุ่นจำลองอยู่ในระหว่างท่าทางประกอบอาหาร พร้อมทั้งในห้องดังกล่าวมีทีวีฉายวีดิทัศน์บรรยายถึงอาหารพื้นบ้าน และวัฒนธรรมอาหารของชาวล้านนา
มากันถึงส่วนสุดท้าย เป็นตลาดจำลองเมื่อในอดีตอยู่บริเวณหน้าวัดพระสิงห์ที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ การค้าขายของชาวล้านนา เมื่อหลายชั่วอายุคนที่ผ่านมาปัจจุบันถ้าอยากเห็นกันแบบนี้ คงมีให้ดูกันเฉพาะบางงานอีเว้นท์ที่เขาจัดจำลองขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนในสมัยนี้ได้ซึมซับ
จะว่าไปแล้วมาเที่ยวหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ในห้องนี้ ให้อารมณ์เหมือนเราย้อนกลับไปยังอดีต แต่ครั้งเก่าก่อน ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ถ่ายทอดผ่านทางเสียง หรือวิดีโอ แต่จากการจำลองสถานที่ขึ้นมาแบบนี้ ผมรู้สึกว่ามันเข้าถึงได้ง่ายดีกว่าสื่อดิจิตอล
เป็นไปได้ อยากเจอของจริงเลยจะดีกว่าครับ คุณผู้อ่านที่รัก