ใครบอกว่าหน้าร้อนแบบนี้ หนีไปนอนบนดอยไม่ได้อารมณ์ อาจจะต้องคิดใหม่กันอีกรอบ เพราะล่าสุด ผมหนีขึ้นดอยอินทนนท์ไปนอนเต็นท์ อากาศมันยังเป็นใจให้ได้หนาวๆ กันอยู่
หลักฐานยืนยันชิ้นดี คือตัวเลขบอกอุณหภูมิในช่วงค่ำประมาณ 15 องศาเซลเซียส ในปลายเดือนมีนาคม บริเวณที่กางเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และถ้าดึกไปหน่อยก็คงเลยเถิดไปถึง 10 องศาเซลเซียส ส่วนถ้าเป็นยอดดอยสูงสุดของสยามประเทศ (ในวันที่ผมไปนะ) อยู่ที่ 7 องศาเซลเซียส
นั่นหมายความว่าดอยอินทนนท์ คุณสามารถไปเที่ยวได้ตลอดทั้งปี มีความหนาวการันตีแน่ๆ แต่ๆๆ มีข้อแม้แค่ว่าความหนาวมันจะเริ่มมาเยือนตั้งแต่ช่วงตัวอุทยานขึ้นไปจนถึงดอย แต่ถ้าลดหลั่นจากนั้นลงมา อันนี้ก็แล้วแต่สภาพอากาศในช่วงเวลาดังกล่าว อ่อ อีกอย่างอย่าลืม สถานที่บางแห่งจะมีฤดูกาลท่องเที่ยวของมันที่ต้องเปิด-ปิดเป็นช่วงเวลาอย่าง เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ที่จะเปิดให้ได้เที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มิถุนายนเท่านั้น
กลับมาในส่วนของที่พักอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่จะเอามาชำแหละ หลักๆ ก็จะมีสองแบบด้วยกันคือ นอนเต็นท์ กับบ้านพัก ซึ่งในรีวิวนี้ผมจะขอพูดถึงเรื่องนอนเต็นท์กันโดยเฉพาะ ส่วนบ้านพัก ถ้ามีโอกาสได้ไปนอน เดี๋ยวจะเอามาฝากกันอีกที
เต็นท์ มีให้เลือกกันสองแบบ คือแบบแรกเราเอาเต็นท์ส่วนตัวมากางเอง แล้วจ่ายค่าบริการเช่าที่ ส่วนที่นอน หมอน ผ้าห่มถ้าจะเช่าก็สอบถามเอาได้ อีกแบบเป็นเต็นท์ของทางอุทยานที่กางไว้แล้ว ที่เหลือเราก็แค่จ่ายค่าเช่าเต็นท์ ถ้าอยากได้ ที่นอน หมอน ผ้าห่มเพิ่มก็เลือกเอาตามสะดวก (ในเต็นท์ไม่มีอะไรให้)
ถามว่าแบบไหนดีกว่ากันระหว่างเราเอาเต็นท์มากางเอง กับเช่าของอุทยาน คำตอบผมมีสองอย่างครับ ถ้าคุณมีเต็นท์เองใช้งานประจำ คุณภาพอยู่ในระดับกับเต็นท์ของอุทยาน ก็เอามากางเลย แล้วจ่ายแต่ค่าเช่าที่ แต่ถ้าคุณภาพเต็นท์คุณต่ำกว่าแนะนำว่าเอาเต็นท์ของอุทยานเถอะ เพราะอย่าลืมว่าตอนเช้าๆ หมอกจะลงมาถล่มหัวคุณ ถ้าเต็นท์คุณภาพไม่ดีพอ ส่วนเรื่องราคาบวกลบคูณหารแล้วไม่หนีกันมากครับทั้งสองแบบ
สถานที่กางเต็นท์ ตามที่อุทยานได้จัดเอาไว้ จะเป็นลานใต้ต้นสน ข้อดีคืออย่างน้อยๆ ก็มีอะไรให้ร่มเงา อีกทั้งยังช่วยกันหมอกลงในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ลานกางเต็นท์มีหลายโซนด้วยกันให้เลือก ซึ่งก็มีทั้งแบบเราจองออนไลน์ผ่านเว็บอุทยานแห่งชาติ หรือแบบที่เรามาเลือกเองถึงที่ หรือแบบที่เราเอาเต็นท์ส่วนตัวมากางเองโดยเฉพาะ
ห้องน้ำห้องท่า (แบบรวมมีแยกชายหญิง) อันนี้ผมปรบมือให้เลย สะอาดดี แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวที่คนมาพักเยอะๆ อันนี้ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่าจะยังรักษามาตรฐานความสะอาดแบบเดิมไว้มั้ย แต่จากป้ายที่แปะไว้ในห้องน้ำ เขาบอกว่าจะมีแม่บ้านมาดูแลทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ เรื่องน้ำอุ่นอันนี้ขอแสดงความเสียใจด้วย ไม่มีให้อาบ ถ้ามีจะมีแค่ห้องน้ำของคนพิการเท่านั้น ซึ่งหลังจากผมแอบเข้าไปใช้ (เจ้าหน้าที่เป็นคนชี้โพรงให้กระรอก) ปรากฏว่าเครื่องทำน้ำอุ่นเจ๊งไม่เป็นท่าใช้การไม่ได้ ฉะนั้นก็ต้องอาบกันแบบเย็นๆ ไป
เรื่องที่กิน หลายคนคงกังวลพอๆ กับลุ้นหวย ขอบอกว่าเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาครับ เพราะแค่สับตีนออกจากที่พักอุทยานมาก็เป็นหมู่บ้าน มีร้านค้าให้เลือกซื้อกันเยอะแยะ ใครหิวหมูกระทะก็มีบริการส่งให้ถึงเต็นท์ ส่วนใครถ้าอยากกินดีๆ หน่อยก็ลองขับรถออกมาจากที่พักอุทยาน มายังถนนใหญ่เส้นหลัก ที่ติดกับสนามฟุตบอล ตรงนั้นจะมีร้านอาหารค่อยให้บริการ 4 ร้าน ใกล้ๆ กันนั้นมีมินิมาร์ท และตู้เอทีเอ็มของแบงก์กรุงไทยให้ด้วย
สถานที่ท่องเที่ยว แถวนั้นใกล้ๆ ก็มีน้ำตกสิริภูมิ สวนหลวงสิริภูมิ สถานีเกษตรดอยอินทนนท์ ตลาดม้ง บ้านขุนกลาง ทั้งหมดที่เล่ามา ถ้าไม่เกี่ยงเรื่องเดินเที่ยว ทุกที่เดินไปเที่ยวได้หมดในระยะพอดี แต่ที่ไกลหน่อยคงเป็น ตลาดม้ง บ้านขุนกลาง กับน้ำตกสิริภูมิ และสวนหลวงสิริภูมิ (สองอย่างหลังจริงๆ จะบอกว่าไกลก็ไม่เชิง เพราะในเมื่อเดินถึงสถานีเกษตรแล้ว มันสามารถเดินต่อยอดไปถึงกันได้แบบใกล้ๆ)
ส่งท้ายด้วยเรื่องราคาค่าเช่าเต็นท์ของอุทยาน ราคาอยู่ 225 บาทต่อหลัง 1 หลังนอนได้ 3 คน ถ้าเอาเต็นท์ไปกางเอง ค่าเช่าที่ต่อหัวคนละ 60 บาท พวกเครื่องนอนอย่าง ถุงนอน หมอน ที่รองนอน ถ้าเอาครบทั้ง 3 อย่าง ก็ 80 บาทต่อคน (ราคาแยกผมจำไม่ได้ ลองถามเจ้าหน้าที่อีกรอบ) ส่วนใครจะจองแบบออนไลน์ก็กดเข้าไปที่ลิ้งค์นี้ได้เลย http://www.dnp.go.th/parkreserve/tent_reservation.asp?lg=1 รายละเอียดไปหาอ่านเพิ่มเอาในนั้น
สรุปแล้ว ใครจะหนีไปนอนเต็นท์ที่นี่ ผมบอกเลยว่าคุ้มครับ ที่สำคัญคุ้มกว่าที่กางเต็นท์ของเอกชนบางเจ้าแถวนั้นที่คุณภาพไม่ได้สมกับราคาเลยซักนิดเดียว