นั่งไทม์แมชชีนกลับไปเมื่อประมาณซักเดือนเมษา มีโอกาสได้คุยกับพี่คนนึง ที่หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ (สารภาพจำชื่อพี่แกไม่ได้ แต่จำหน้าได้) ใจความสำคัญ แกชวนให้ไปงานไหว้สา ผญามังราย
ถึงวันแวะไป 15 นาที ตอนบ่ายๆ (เพราะตื่นสาย อันเนื่องมาจากการนอนดึก) ยืนดูชาวบ้านพากันทำขนมปาดกันอย่างแข็งขัน ก่อนจะลาดตระเวนแถวนั้นแปบเดียวแบบลวกๆ ก็เป็นอันกลับ (มีงานทื่อ่นต่อ) บทสรุปของวันนั้น ไม่มีห่าอะไรให้ตัวเอง ซึ่งจริงๆ ถึงมาเช้ากว่านั้นตอนเริ่มงาน ก็คงได้อะไรไม่เยอะ แต่ๆ ประเด็นก็คือ ผมอยากพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับพี่แก ก็แหม เจอหน้ากันครั้งแรก ทิ้งทวนกันซะแบบหนังไตรภาคให้ติมตาม
“ถ้าคุณมาร่วมกิจกรรมของที่นี้ แล้วคุณจะรู้อะไร หลายๆ อย่างเกี่ยวกับคนในชุมชนเพียบ”
นั่นคือประโยคของพี่แก แต่ก็นั้นแหละ ในวันงานผมไม่เห็นแม้แต่กระทั่งเงาหัว คาดว่าแกคงยุ่งไปทำอะไรอย่างอื่น?
ล่าสุดมีโอกาสแวะไปแถวนั้นอีกหน เพิ่งไปสังเกตเห็นหอบรรพกษัตริย์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ผมเลยมานึกได้ว่า ทำไมตัวเองเพิ่งมาสังเกตเจอ และที่สำคัญ ณ เวลานั้น หน้าพี่คนดังกล่าวที่เคยคุยกันเหมือน 6 เดือนที่แล้ว ก็ลอยมาทันที
ผมคิดว่า ถ้าเขาอยู่ เขาคงจะให้คำตอบ เรื่องนี้ หอบรรพกษัตริย์ แห่งนี้ให้กับผมได้อย่างดี แต่ในเมื่อไม่เจอกันเป็นชาติ และก็ไม่รู้ว่าชาตินี้จะได้เจอกันอีกมั้ย การหาคำตอบด้วยตัวเองน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด
หอบรรพกษัตริย์อารักษ์หลวงแห่งนครเชียงใหม่ สถานที่แห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางการปกครอง และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ใจกลางเมืองในเขต "คุ้มแก้วหอคำ" ของบรรพกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ในครั้งอดีตครับ โดยพื้นที่แห่งนี้ในปัจจุบัน อยู่ภายใต้การดูแลของหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ซึ่งในทุกๆ 4 ปี จะมีงานประเพณีฟ้อนบวงสรวงบรรพกษัตริย์อารักษ์หลวงเกิดขึ้น
ทั้งนี้ประเพณีดังกล่าว จัดทำเพื่อเป็นการจรรโลงไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ดีงาม ตามความเชื่อและศรัทธาในท้องถิ่นล้านนา ซึ่งนับเนื่องแต่อดีตที่เคยได้มีการจัดงานบวงสรวงบูชาคารวะ เพื่อแสดงออกถึงกตัญญุตาต่อผีอารักษ์ และบรรพบุรุษในช่วงเวลาดังกล่าว เอาไว้ให้กับอนุชนรุ่นหลังสืบต่อไปภายหน้า อีกทั้งประเพณีดังกล่าว ยังเป็นการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจในประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้แก่ชาวบ้านทั่วไปอีกด้วย
700 ปี มาแล้ว ที่เชียงใหม่ ถูกขับเคลื่อนนำพาสังคมและวัฒนธรรมล้านนา ให้ดำเนินมาอย่างยาวนาน จากพระปรีชาชาญของเหล่าบรรพกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ในอดีตทั้งสองราชวงศ์ ฉะนั้น การระลึกถึงคุณงามความดีในอดีตผ่านพีธีกรรมเช่นนี้ จึงถือเป็นการแสดงออกที่ควรอนุรักษ์ไว้ ให้บักหำน้อยรุ่นหลังได้เรียนรู้
ปล.พิธีกรรมดังกล่าวเพิ่งจัดไปเมื่อ 30 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมานะครับ ใครอยากดู นับนิ้วรอไปอีก 4 ปี ของหาชมยากแบบนี้น่าสนนะ