หอศิลป์ สุทธฺจิตฺโต

C360_2013-09-22-17-24-48-249

แรกๆ กะจะยัดรวมใส่กันในเรื่องวัดหมื่นสารแหละครับ แต่พอเอาเข้าจริงมองดูข้อมูลแล้ว ก็ได้แต่บอกตัวเองว่าอย่าดีกว่า ยิ่งคนไทย เราๆ ท่านๆ ก็รู้ดีว่าขี้เกียจอ่านอะไรยาวๆ ฉะนั้น เลยทำการแยกย่อยส่วนออกมา เป็นเรื่องเฉพาะของ หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต กันอย่างเพียวๆ ไม่เกี่ยวกับใคร และก็มากันในแบบสรุปย่อๆ พอให้อ่านเข้าใจง่าย

หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต เป็นหอศิลป์ที่สร้างขึ้นจากดำริของ  พระครูสุทธิจิตตาภิรัต  เจ้าอาวาสวัดหมื่นสารในปัจจุบัน ร่วมกับคณะกรรมการวัด และคณะศรัทธาวัดหมื่นสารกันครับ โดยจุดประสงค์ในการสร้าง ก็เพื่อเป็นที่ประดิษฐานหุ่นรูปเหมือน 3 ครูบา, เพื่ออนุรักษ์สืบสานศิลปะลายไทยล้านนา ให้เป็นแหล่งศึกษา, เพื่อเป็นสถานที่สักการบูชาแก่สาธุชนทั่วไป, เพื่อเป็นการแสดงกตเวทีคุณต่อบรรพบุรุษช่างเงิน, เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา, เพื่อส่งเสริมการจ้างงานในชุมชน และเพื่อฝึกหัดช่างรุ่นใหม่ อีกทั้งให้ช่างรุ่นเก่าได้พัฒนาฝีมือ

C360_2013-09-22-17-23-52-763

หอศิลป์ สุทธฺจิตฺโต  เป็นหอที่สร้างขึ้นแบบล้านนาประยุกต์ครับ  หอจะตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือภายในวัดหมื่นสาร  บริเวณประตูทางเข้าวัดด้านซ้ายมือ  ด้านหน้าหอมีต้นมะขามเก่าแก่อายุหลายร้อยปีปลูกอยู่  ตัวหอก่ออิฐถือปูน  ฉาบ  และประดับด้วยโลหะดุนลายทั้งหลัง  ยกเว้นส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องสีอิฐ  เพื่อให้กลมกลืนกับสีหลังคาของอาคารสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ภายในวัด

C360_2013-09-22-17-16-04-630

ตัวอาคารหอภายนอก และภายในประดับด้วยงานดุนลายโลหะลวดลายต่างๆ ที่ประยุกต์จากลายพื้นเมืองเอกลักษณ์ลายเครื่องเงินบ้านวัวลายดั้งเดิม ซึ่งเป็นลายหลัก  ได้แก่  ลายเวสสันดรชาดก  ลายรามเกียรติ  ลายเทวดา  ลายเทพพนม  ลายสิบสองราศี  ลายแส้  ลายดอกกระดิน  ลายเครือเถา  และลายที่สื่อถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาวบ้านวัวลาย  ตั้งแต่การอพยพจากเมืองปั่น  ลุ่มแม่น้ำคง (สาละวิน)  รัฐไทใหญ่ฝั่งประเทศพม่าปัจจุบัน  ตลอดจนภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านวัวลายในอดีต

C360_2013-09-22-17-21-56-663

นอกจากนี้ ยังมีการต้องแผ่นโลหะเป็นลวดลายที่แสดงถึงประวัติศาสตร์การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ  ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานการก่อสร้างและทำนุบำรุงถาวรวัตถุในบวรพระพุทธศาสนาอย่างมากมายของครูบาเจ้าศรีวิชัย  จนได้รับการยกย่องเป็น “นักบุญแห่งล้านนา”  รวมทั้งภาพประวัติศาสตร์การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  วัดพระธาตุดอยสุเทพ  ผสมผสานกับภาพเทพเจ้าต่างๆ  ที่เป็นเทพแห่งศิลปะและความสำเร็จ  ที่บรรดาช่างเงินบ้านวัวลายให้ความนับถือ  เช่น  พระศิวะ  พระพิศเณศ  ฯลฯ  โดยลวดลายที่ประดับทั่วทั้งศาลาได้นำเอาลายเส้นและลายดอกแบบต่างๆ  ที่ปรากฏในเครื่องเงินบ้านวัวลายดั้งเดิมมาตกแต่งเป็นลายประกอบ  รวมทั้งลายที่ได้รับแนวคิดมาจากศาสนสถานต่างๆ ในล้านนา

C360_2013-09-22-17-17-21-898

ลายหลักที่ได้นำมาประดับหอศิลป์นี้  ถือเป็นลายชั้นสูงที่ช่างฝีมือจะต้องมีความชำนาญ  ถือเป็นลายโบราณที่ทำได้ยากยิ่ง  เป็นลายที่ถือเป็นยอดฝีมือขั้นสูงสุดและยากที่สุด  โดยเฉพาะลายนูนสูงรูปคน  เทวดา  สัตว์หิมพานต์  หรือตัวละครที่ต้องใช้ความประณีต  สัดส่วนที่มาตรฐาน  ให้รายละเอียดอย่างมายมายและสมจริง  เช่น  รายละเอียดในส่วนของเสื้อผ้า  หน้าตา  โดยเฉพาะรูปเหมือน  เช่น  รูปพระสงฆ์  พระมหากษัตริย์  รูปคน  รูปยักษ์  รวมทั้งอารมณ์ของตัวละครที่สะท้อนลงบนงานดุนลาย  ให้ปรากฏเป็นเรื่องราวลงบนแผ่นภาพ

C360_2013-09-22-17-19-28-993

ทั้งนี้ ภายในหอศิลป์เป็นที่ประดิษฐานหุ่นขึ้ผึ้งรูปเหมือน 3 ครูบา พระสงฆ์ผู้มีคุณูปการเป็นที่เคารพรักและศรัทธาของชาวบ้านวัวลาย  นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งได้แก่  ครูบาศรีวิชัย  นักบุญแห่งล้านนา,  ครูบาอินตา  อินทปัญโญ (ครูบาอินต๊ะ)  และพระครูโอภาสคณาภิบาล (ครูบาบุญปั่น  ปุญญาคโม)  อดีตเจ้าอาวาสวัดหมื่นสาร

C360_2013-09-22-17-24-21-412

ออกมาจากหอศิลป์มายัง บริเวณพื้นที่ด้านนอกทางทิศตะวันออกติดกับกุฏิสงฆ์  “โอภาสคณานุสรณ์” จะมีการดุนลายประดับด้วยภาพพระธาตุประจำปีเกิด  จำนวน 12 ภาพ กันอีกด้วย

ถือได้ว่าหอศิลป์สุทฺธจิตฺโตหลังนี้ เป็นหนึ่งในผลงานที่ลูกหลานช่างเงินบ้านวัวลาย มีความภาคภูมิใจที่จะสื่อออกมา ถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ การน้อมสักการะครูบาศรีวิชัย  ครูบาอินต๊ะ  และครูบาบุญปั๋น ผ่านงานศิลปะที่ช่วยจรรโลงให้คงอยู่สืบไป