สงครามร้านขายดอกไม้ ตรงอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ตรงทางขึ้นดอยสุเทพ ยังคงดุเดือดเลือดพล่านทุกครั้ง เวลาที่ผมไปแถวนั้น
จังหวะ และทักษะการช่วงชิง เพื่อดึงให้นักท่องเทียวมาซื้อดอกไม้ร้านตน ก่อนจะนำไปสักการะ อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย คือสิ่งที่แม่ค้าร้านขายดอกไม้แถวนั้น ทำอยู่กันเป็นประจำ
ไม่ได้น่าเกลียด หรือรำคาญอะไร แต่ดูแล้วมันตลกดี ตรงที่สร้างความระทมให้แก่คนซื้อ เพราะไม่รู้ว่าตูจะเลือกร้านไหนดี ก็จากเท่าที่เห็นมันก็แทบจะเหมือนกันหมดทุกร้าน หนำซ้ำก็ไม่เห็นจะมีร้านไหนโดดเด่น แปลกแยกออกมา จนชวนสะดุดตาให้คนเดินเข้าไปซื้อ
แหม ถ้าผมเป็นพ่อค้า แม่ค้า แถวนั้น ผมจะสรรหาวิธีการขายดอกไม้ให้มันบรรเจิดสุดๆ ไปเลย เอาฉบับที่แบบว่า ร้านอื่นมันเขม่นในฐานะ เอ็งขายดีเกินไปแล้ว
แต่ในเมื่อไม่มีร้านไหน โดดเด่น เด้งดึ๋ง คุณผู้อ่าน ก็จัดการหาเลือกซื้อเอาตามสะดวกนะครับ ยังไงก็ไม่ต้องไปเลือกมาก เพราะสาระสำคัญของการมาสักการะอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย มิได้อยู่ที่ดอกไม้ แต่มันอยู่ที่ใจต่างหาก
ถ้าจิตใจแน่วแน่ ตั้งมั่น อย่างอื่นมันก็ไม่ใช่ปัญหา ซึ่งก็เหมือนๆ กับ ครูบาศรีวิชัย ผู้ริเริ่มชักชวนให้ประชาชนชาวเมืองเหนือ ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันสร้างถนนจากเชิงดอยขึ้นไปสู่วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ
ระยะเวลาเริ่มลงมือ คือ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 ก่อนจะจบลงจนแล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2478 ด้วยระยะทางจากเชิงดอยไปถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ 10 กิโลเมตร
คำนวณดูจากระยะเวลาในการสร้าง และเครื่องไม้เครื่องมือในสมัยก่อน ก็ต้องบอกเลยว่าสุดยอดครับ ทั้งนี้พลังดังกล่าวน่าจะมาจากคำว่า “ศรัทธา” กันอย่างล้วนๆ ทำนองพลังอันยิ่งใหญ่ ย่อมมาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง
ฉะนั้น การมี อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ตรงเชิงดอยสุเทพ จึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ที่บ่งบอกถึงความสำคัญของครูบาศรีวิชัย ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ดังสมญานาม “นักบุญแห่งล้านนา” อย่างที่หลายๆ คนต่างทราบกันเป็นอย่างดี
นอกจากจะมาสักการะ อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย กันแล้ว ผู้ใดที่สนใจจะตักบาตรยามเช้าที่เชียงใหม่ ในบรรยากาศที่เห็นพระภิกษุเดินเป็นสายนับร้อยรูป ก็สามารถมาที่เชิงดอยสุเทพ บริเวณลานครูบาศรีวิชัย กันได้ ที่นี่จะมีพ่อค้าแม่ค้า นำอาหารและน้ำให้บริการถึงที่ โดยผู้แสวงบุญไม่ต้องเตรียมของสำหรับใส่บาตรเอง หรืออยากจะเตรียมมาเองอันนี้ก็ไม่ได้ว่ากัน โดยพระภิกษุจำนวนมากนี้ เป็นพระเณรจากวัดศรีโสดา ซึ่งเป็นวัดที่ชาวเขานิยมมาบวชเรียนเป็นจำนวนมาก