ผมไม่เคยรู้มาก่อนหรอกครับว่า ประตูช้างเผือกมีที่มาของมันอย่างไหร่ รู้เพียงแต่ว่ามันมีอนุสาวรีย์ช้างเผือกให้เราๆ ท่านๆ ได้เห็นกันเวลาขับรถผ่าน
และด้วยความที่ผมไปเดินเตร็ดเตร่ แถวสถานีขนส่งช้างเผือก ยืนเล่นอยู่ตรงอนุสาวรีย์นั้นอยู่นานสองนาน จนสุดท้ายพาลได้ความรู้มาแบบงงๆ และมันก็ต้องทำให้ผมมานั่งค้นต่อ จนพอจะทราบถึงความสำคัญของอนุสาวรีย์ว่ามันเป็นมากันยังไง
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ว่ารูปช้างเผือกและช้างดังกล่าวมีความสำคัญต่อเมืองเชียงใหม่ ทั้งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมความเชื่อ ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดยอนุสาวรีย์ช้างเผือกนั้นมีประวัติความเป็นมา ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งไอ้ผมก็จะเล่าให้ฟังกัน ดังต่อไปนี้
ในสมัยพญาแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ 7 ในราชวงศ์มังรายนั้น ล้านนากับสุโขทัยมีสัมพันธ์ไมตรีอันดีต่อกัน ครั้งหนึ่งกษัตริย์ของสุโขทัย คือ พระเจ้าไสยลือไท เกิดความขัดแย้งกับกษัตริย์อยุธยา จึงได้มีราชสาส์นมาขอกองทัพเชียงใหม่ให้ไปช่วยรบกับอยุธยา พญาแสนเมืองมาทรงยกกองทัพไปช่วย ครั้นเมื่อถึงสุโขทัยได้ตั้งทัพอยู่นอกเมืองแล้วพัก พลรอให้พระเจ้าไสยลือไทออกมาต้อนรับ แต่การณ์กลับเป็นว่าสุโขทัยยกทัพเข้ารอบโจมตีทัพ เชียงใหม่ในเวลาดึกของคืนหนึ่ง โดยไม่ทันได้ตั้งตัว จนทัพเชียงใหม่แตกพ่าย
จากนั้นพญาแสนเมืองมาพลัดหลงออกนอกจากกองทัพ เสด็จหนีไปทางทับสลิด และได้พบกับชายสองคน คนหนึ่งชื่อ อ้ายออบ อีกคนหนึ่ง ชื่ออ้ายยี่ระ บุคคลทั้งสองได้ผลัดกันแบกพระองค์มาตามทางจนถึงเมืองเชียงใหม่ คุณความดีครั้งนั้นพญาแสนเมืองมา ทรงชุบเลี้ยงให้เป็นทหารระดับพวกเป็น พวกช้าง ซ้ายขวา แล้วใหตั้ง บ้านเรือนอยู่ทางทิศใต้ของเชียงโฉม ทางทิศตะวันออก จากนั้นทั้งสองได้สร้างรูปช้างเผือกไว้ซ้ายขวา โดยให้มีช่องทางเดินระหว่างช้างทั้งสองเชือก ความตอนนี้
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดพระงาม เชียงใหม่ (พ.ศ. 2469) ผูกที่ 3 กล่าวว่า “ยามเดิก เจ้าเมืองสุโขทัย แปรยอพลเสิกเข้ารบเจ้าแสนเมืองมา หมู่ชุมแตกพ่ายหนี เจ้าแสนเมืองมาพลัดช้างม้าหมู่ชุม ออกหนีมาทางทับสลิด เจ้าพบขา 2 ฅน ผู้ 1 ชื่ออ้ายออบ ผู้ 1 ชื่อว่ายี่ระ ขาเปลี่ยนกันแบกเจ้าแสนเมืองมา มาต่อเท้ารอดเมืองเชียงใหม่ เจ้าแสนเมืองมาเลี้ยงขาหื้อเปนพวกช้างซ้ายขวา ขาตั้งบ้านอยู่ทางใต้เชียงโฉมฟากทางเบื้องวันออก ขาหื้อแปลงรูปช้างเผือก 2 ตัวไว้ซ้ายขวา เทียวเข้าออกตามรูปช้างนั้น มาต่อเท้าบัดนี้แล”
อนึ่ง รูปช้างเผือกอนุสาวรีย์ ของอ้ายยออบ กับอ้ายยี่ระ จะตั้งอยู่ที่ใด มีรูปร่างอย่างไร ผู้คนในสมัยปัจจุบันไม่มีใครพบเห็น กระนั้นก็มีนักวิชาการ หลายท่านเห็นตรงกันว่าอยู่บริเวณข้างทางเข้าออก ฝังซ้ายขวาของประตูหัวเวียง และด้วยเหตุนี้ชื่อประตูหัวเวียงจึงเรียกประตูช้างเผือกแต่นั้นมา ส่วนรูปร่างคงเป็นรูปช้างเผือก ตั้งอยู่คนละฟากถนน เพราะในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า “แปลงรูปช้างเผือก 2 ตัวไว้ซ้ายขวาเทียว (เดิน) เข้าออกตามรูปช้างนั้น”
อย่างไรก็ตาม รูปอนุสาวรีย์ดังกล่าวจะมีอายุยืนนานเพียงใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่พบว่ามีการสร้างรูปช้างเผือกขึ้นใหม่ ณ บริเวณใกล้เคียงกัน ในสมัยพระญาติโลกราชครั้งหนึ่ง และในสมัยพระเจ้ากาวิละอีกครั้ง แต่การสร้างสองครั้งหลังนี้ เป็นการสร้างขึ้นในฐานะอารักษ์เมืองหรือเสื้อเมือง ซึ่งต่างจากการสร้างครั้งแรกที่สร้างในฐานะเป็นอนุสาวรีย์