ใครมาเที่ยววัดเชียงใหม่อย่างวัดพระธาตุดอยสุเทพ คงจะสังเกตเห็นสัตว์ตัวประหลาดเป็นลายปูนปั้นอยู่ภายในวัดชนิดนึงนะครับ
มันเป็นสัตว์ที่โดดเด่นแถมยังหาดูได้ยากอีกต่างหากในที่อื่นๆ โดยสัตว์ที่ผมกล่าวถึงนั้นมันก็คือ “ตัวมอม”
ตัวมอม เป็นสัตว์ในตำนาน เป็นพาหนะของเทพปัชชุนนะเทวบุตร ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฝนในคติล้านนา ลักษณะของ “มอม” จะดูไม่ค่อยเหมือนสัตว์ที่เรารู้จักกันทั่วไป ตัวมอมมีรูปร่างคล้ายแมวผสมสิงโต ดังนั้นบุคลิกของมอม จึงดูเหมือนจะน่ากลัวแต่บางครั้งก็ดูขี้เล่น แต่สล่าหรือช่างปั้นบางท่านก็ปั้นมอม ดูคล้ายตุ๊กแก บางกิริยากระเดียดไปทางค่างก็มี
ส่วนพจนานุกรมล้านนาบางฉบับให้ความหมายไว้ว่า มอมเป็นสัตว์ผสมระหว่างสิงโตกับลิง มีแขนยาวคล้ายค่าง บางทีเรียกเสือดำ ซึ่งเสือดำนั้นเข้าใจว่าเป็นสัตว์ต่างชนิดกันกับ “มอม” ที่เฝ้าวัด
ตัวมอม จะปรากฏบทบาทเบื้องแรกในตำนานทางเหนือเกี่ยวกับการขอฝน โดยทำหน้าที่เป็นพาหนะของเทวบุตรองค์หนึ่ง ชื่อ เทพปัชชุนนเทวบุตร ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งเมฆและฝน
ดังนั้นชาวล้านนาจึงมีประเพณีขอฝนโดยนำตัวมอมที่แกะสลักจากไม้นำขึ้นเสลี่ยงแห่ขอฝน แล้วใช้น้ำสาดให้ตัวมอมเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ สมัยก่อนตามวัดทางเหนือจะแกะตัวมอมจากไม้ตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดเท่าแมว แล้วลงรักทาด้วยชาดแดงอย่างสวยงาม ซึ่งการแห่มอมดังกล่าวอาจเป็นต้นเค้าของการแห่นางแมว เนื่องจากแมวมีลักษณะใกล้เคียงกับมอมมาก และภายหลังก็หามอมที่แกะเพื่อใช้ในพิธีขอฝนยากขึ้นทุกที เพราะคนไม่ค่อยรู้จัก
อนึ่ง ดินแดนล้านนามีวัฒนธรรมทั้งฮินดู พุทธ ที่กล่าวถึงป่าหิมพานต์ เชิงเขาพระสุเมรุ ที่เป็นศูนย์กลางจักรวาล มีสัตว์ลูกครึ่ง คนกับเทพ คนกับสัตว์ สัตว์กับเทวดา สัตว์กับสัตว์ หลายอย่าง แต่อยู่ในสวรรค์ไม่ได้ จึงได้มีการแสดงเป็น ประติมากรรมเฝ้าศาสนสถานหลากหลายแบบ ที่มีความหมายในเชิงนามธรรมถึงอุปาทาน
สำหรับคนอีสานจะเรียกว่า “สิงห์มอม” โดยมีความเชื่อว่า มอมเป็นสัตว์ที่ทรงกำลังมหาศาล เป็นเหตุให้ลืมตัว เมื่อลงมายังมนุษยโลกก็แสดงอำนาจไปทั่ว ทำให้มอมไม่สามารถกลับขึ้นไปยังสวรรค์ได้ เทพปัชชุนนะจึงสั่งให้มาเฝ้าพุทธสถานเพื่อรับฟังพระธรรมเป็นเนืองนิจ จนกว่าจะละความทะนงตน และเข้าใจในพระธรรมจึงจะกลับไปสถิตเป็นเทพพาหนะต่อไป ขณะที่อยู่ในโลกมนุษย์ มอมก็พยายามสร้างสุขให้กับมนุษยโลก เพื่อเพิ่มบุญเพิ่มกุศลโดยเป็นตัวกลางเพื่อขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล
นอกจากย่อหน้าบรรทัดแรกที่เอ่ยไปตั้งแต่ต้นว่าตัวมอมมีที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดอื่นๆ ในเชียงใหม่ก็มีให้ชมกันอีกด้วย อย่างวัดบุพพาราม และวัดเกตุการาม เป็นต้น